คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดในพินัยกรรม์ที่มอบให้บุคคลใดเป็นผู้ปกครองทรัพย์จะจัดแบ่งให้แก่ใครเท่าใดแล้วแต่ผู้นั้นจะเห็นสมควรนั้น เป็นโมฆะตามประมวลแพ่ง ฯ มาตรา 1706 ข้อ 3
ถ้ามีปัญหาเกี่ยวด้วยความสามารถของผู้ทำพินัยกรรม์ต้องใช้กฎหมายในขณะที่ทำพินัยกรรมบังคับ แต่ถ้าเป็นปัญหาในเรื่องผลของพินัยกรรม์ ศาลต้องใช้กฎหมายในขณะที่พินัยกรรม์นั้นมีผลบังคับ คือในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย
ปัญหาว่าข้อกำหนดในพินัยกรรม์เป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์นอกพินัยกรรม์จากจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ ๓ ซึ่งมีข้อความว่า ” ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้า ซึ่งมิได้กล่าวในพินัยกรรม์นี้ ข้าพเจ้าขอมอบให้นางละเวงภรรยาข้าพเจ้าปกครองรักษาพร้อมกับนางชุ่มน้องสาวข้าพเจ้า แล้วแต่พร้อมกันเห็นสมควรจัดแบ่งกับบุตร์ข้าพเจ้าผู้ใดก็ได้ ” นั้นตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่ง ฯ มาตรา ๑๗๐๖ ข้อ ๓ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาคงเห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรม์ข้อ ๓ นี้เป็นโมฆะโดยบทกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยค้านว่า ผู้ตายทำพินัยกรรม์ฉะบับนี้ไว้ก่อนประกาศใช้ประมวลแพ่ง ฯ บรรพ ๖ แม้จะมาตายภายหลังใช้ประมวลแพ่งฯ บรรพ ๖ แล้วก็ดี ก็นำประมวลแพ่งบรรพ ๖ มาใช้บังคับไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่าถ้าเป็นปัญหาในเรื่องความสามราถของผู้ทำพินัยกรรม์ ก็ต้องใช้กฎหมายในขณะที่ทำพินัยกรรม์นั้นมาใช้บังคับตามประมวลแพ่ง ฯ มาตรา ๑๖๕๔ แต่ในคดีนี้เป็นปัญหาในเรื่องผลของพินัยกรรม์ จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้นมีผลบังคับคือ ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย ตามประมวลแพ่ง ฯ ม.๑๖๗๓ และในข้อที่ว่า ปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น ก็เห็นว่าปัญหาในเรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะ ศาลอุทธรณ์จึงยกขึ้นวินิจฉัยได้ พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share