คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเคหะได้เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าและมีการสอบสวนแล้วมาครั้งหนึ่ง คณะกรรมการได้มีมติให้ความยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่ในเคหะได้ แต่ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของคณะกรรมการนั้นไม่ชอบ ใช้ไม่ได้ เนื่องจากกรรมการที่เป็นอธิบดีไม่ได้มาประชุมเอง เป็นแต่แต่งตั้งผู้แทนไปประชุม โจทก์จึงยื่นคำร้องใหม่ โดยยื่นตรงถึงคณะกรรมการท้าวความดังกล่าวมาแล้วได้โดยไม่ต้องทำคำร้องแบบ ค.ช. 2 และไม่ต้องยื่นต่อคณะอนุกรรมการควบคุมค่าเช่าส่วนท้องถิ่นตามกฎกระทรวงมหาดไทย เพราะคำร้องของโจทก์เพื่อที่จะให้ได้รับความยินยอมในครั้งที่ 2 นี้มิใช่เป็นคำร้องขอตั้งต้นกรณีใหม่ หากเป็นเรื่องติดต่อกับการเริ่มต้นและการสอบสวนที่ได้มีมาโดยถูกต้องแล้วแต่เดิม กรณีเป็นเรื่องเดียวกับ มติของคณะกรรมการในครั้งที่ 2 นี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นมติเพื่อคำร้องขอฉะบับต้นและสำหรับการสอบสวนของอนุกรรมการที่กระทำมาแล้วเป็นความยินยอมที่ชอบด้วยมาตรา 16 (6) พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ พ.ศ. 2489.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าเคหะของโจทก์ การเช่าได้สิ้นสุดแล้ว และโจทก์ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าในาภาวะคับขันยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยได้เองแล้ว โจทก์ได้บอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ยอมออกทั้งค้างค่าเช่า ๗ เดือน จึงขอให้ขับไล่ จำเลยต่อสู้ ว่าคำสั่งของคณะกรรมการไม่ชอบด้วย ก.ม.และว่าค่าเช่าที่ค้างโจทก์ไม่มาเก็บเอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เคยยื่นคำร้องและมีการสอบสวนครั้งหนึ่งแล้ว คณะกรรมการลงมติให้ความยินยอมแก่โจทก์ แต่ศาลแขวงฯ พิพากษาว่า คำสั่งของคณะกรรมการใข้ไม่ได้ เพราะกรรมการที่เป็นอธิบดีไม่ได้มาประชุม เป็นแต่แต่งตั้งผู้แทนไปประชุม โจทก์จึงยื่นคำร้องขอใหม่ตรงถึงคณะกรรมการท้าวความดังกล่าว ในครั้งนี้กรรมการได้ไปประชุมด้วยตนเอง คงพร้อมกันพิจารณาสำนวนการสอบสวนเดิมที่คณะอนุกรรมการได้จัดทำไปโดยถูกต้องนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วลงมติให้ความยินยอมแก่โจทก์อีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องของโจทก์เพื่อที่จะได้รับความยินยอมในครั้งที่ ๒ นี้มิใช่เป็นคำร้องขอตั้งต้นกรณีใหม่ หากเป็นเรื่องติดต่อกลับการเริ่มต้น และการสอบสวนที่ได้มีมาโดยถูกต้องแล้วแต่เดิม กรณีเป็นเรื่องเดียวกันมติของคณะกรรมการครั้งที่ ๒ นี้ย่อมถือได้ว่า เป็นมติเพื่อคำร้องขอฉะบับต้น และสำหรับการสอบสวนของคณะอนุกรรมการที่ทำมาแล้ว เป็นการยินยอมที่ชอบด้วยมาตรา ๑๖ (๖) พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ ๒๔๘๙ แล้ว
พิพากษายืน.

Share