คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1693/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยผิดสัญญาให้ใช้ค่าเสียหายจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาขอให้ยกฟ้อง เมื่อศาลเห็นว่าต่างผิดสัญญาฝ่ายโจทก์ต้องให้ใช้จำเลยเป็นเงินเหรียญต่างประเทศ ฝ่ายจำเลยต้องใช้ให้โจทก์เป็นเงินบาทและเงินเหรียญ ดังนี้เป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้โดยทรัพย์สินต่างประเภทอันจะหักทอนกันมิได้ แม้จำเลยจะยกข้อผิดสัญญาขึ้นต่อสู้เพียงให้ยกฟ้องก็ดี ศาลก็ย่อมพิพากษาบังคับได้เพียงเท่าที่ไม่เกินคำขอของโจทก์ คือพิพากษาให้ต่างฝ่ายต่างชำระหนี้แก่กันเป็นเงินตราคนละประเภท แต่สำหรับเงินตราต่างประเทศนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเสียตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชในกรุงเทพฯ เมื่อคำนวณได้เท่าใดให้หักกลบลบกัน ถ้าจำนวนที่จำเลยจะต้องชำระยังเหลืออีกก็ให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้าไม่มีเหลือหรือจำนวนที่โจทก์จะต้องชำระมากกว่าก็ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย
สัญญากันว่าจะชำระหนี้เป็นเงินเหรียญมะลายู และชำระที่สิงคโปร์แต่สถานเดียวดังนี้จะต้องชำระหนี้กันเป็นเงินเหรียญมลายู จะชำระเป็นเงินไทยไม่ได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอมมิฉะนั้นย่อมถือว่าฝ่ายชำระหนี้ผิดสัญญา
หนี้เป็นเงินตราต่างประเทศนั้นเมื่อจะต้องชำระตามคำบังคับของศาลในประเทศไทยก็จะต้องเปลี่ยนเป็นเงินตรา ของประเทศไทยซึ่งมาตรา 196 แห่ง ป.ม.แพ่งฯ บัญญัติให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 196 นั้น ย่อมต้องหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีซึ่งโดยปกติก็คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชในกรุงเทพฯ
ในกรณีที่จะต้องชำระหนี้กันเป็นเงินตามต่างประเทศนั้นเพื่อสดวกแก่การบังคับคดี ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินเป็นเงินตามต่างประเทศ หรือมิฉะนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิช ทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษาถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้น ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินรวมเป็นเงิน ๙๔๗๔๒.๐๔ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องให้แก่โจทก์โดยกล่าวอ้างสรุปได้ว่าจำเลยได้เป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายปูนซิเมนต์ ระหว่างโจทก์จำเลย
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เองเป็นผู้ผิดสัญญาจำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเงินราคาปูนซิเมนต์นี้แม้เดิมจะกำหนดไว้เป็นเงินเหรียญ และชำระกันที่สิงคโปร์ก็ดีแต่ภายลหังได้ตกลงเปลี่ยนมาชำระกันที่กรุงเทพฯ ก็ได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระหนี้ทั้งสิ้นเป็นเงินบาทตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๑๙๖ เมื่อโจทก์ขอชำระหนี้ตามสิทธิดังว่านี้แต่จำเลยไม่ยอมรับและไม่ยอมมอบปูนซินเมนต์ที่ยังเหลือ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและคิดโดยอัตราแลกเปลี่ยน ๑ เหรียญต่อ๔ บาท ๗๗ สตางค์ดั่งฟ้อง พิพากษาให้จำเลยคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๙๔๗๔ บาท ๐๔ สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เรื่องจำนวนเงินเฉพาะที่ให้จำเลยคืน (๑) เงินวางประกันเพียง ๒๐๖๘๖ บาท ๒๗ สตางค์ (๒) เงินค่าภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพียง ๒๐๓๙๕ บาท ๖๓ สตางค์ นอกจากที่แก้ไขนี้แล้วคงยืน
โจทก์และจำเลยต่างฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเรื่องนี้ได้มีความตกลงต่อกันไว้สามครั้ง คือ ครั้งแรกเป็นสัญญาซื้อปูนซิเมนต์ที่สิงคโปร์ตันละ ๗๖ เหรียญสหรัฐมะลายู จะชำระที่สิงคโปร์หรือที่กรุงเทพฯ ก็ได้ ต่อมาเนื่องจากเกิดข้อขัดข้องต่าง ๆ โจทก์จำเลยจึงทำสัญญากันขึ้นอีกฉะบับหนึ่งที่กรุงเทพฯ โดยตกลงจำนวนราคาสิ่งของกันใหม่ คือ โจทก์ยอมชำระเงินค่าปูนซิเมนต์โดยหักเงินที่ชำระแล้ว แลหักเงินที่จำเลยยอมลดให้คงต้องชำระอีก ๓๓,๕๗๗.๙๖ เหรียญ โดยโจทก์สัญญาว่าจะชำระให้เป็นสองงวด ๆ ละเท่า ๆ กัน โดยเงินเหรียญสหรัฐมลายูชำระที่สิงคโปร์ภายในกำหนดเดือนกันยายน ๒๔๘๙ ส่วนกระสอบป่านที่ขาดไป จำเลยยอมติดต่อเรียกร้องและพยายามเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ส่งที่บอมเบ
ต่อมาสิ้นเดือนกันยายน ๒๔๘๙ โจทก์ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ให้จำเลยให้เสร็จสิ้นได้ โจทก์จำเลยจึงตกลงกันต่อไปว่าปูนซิเมนต์ที่เก็บไว้ในโรงเก็บสินค้าของจำเลยนั้นให้โจทก์ขายไปก่อนได้ แต่ต้องเอาเงินบาทตามราคาที่ขายได้วางไว้เป็นประกันไว้แก่จำเลยตลอดไปจนกว่าโจทก์จะชำระเงินเหรียญให้ได้เท่า ใดจึงจะถอนเงินบาทคืนได้
ต่อมาเมื่อปูนซิเมนต์ยังเหลืออยู่ในโรงเก็บสินค้าอีก ๑๓๕ ตัน โจทก์ได้ขายไปในราคาตันละ ๖๐๐ บาท และได้สั่งให้จำเลยส่งมอบของส่วนหนึ่งให้ผู้ซื้อ จำเลยไม่ยอมมอบให้โดยเกี่ยงจะเอาเงินประกันตามราคาตลาด ซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นราคาตันละ ๘๐๐ บาท ซึ่งเกิดเป็นคดีพิพาทกันขึ้น
ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ทำผิดในข้อตกลงการวางประกันและจ่ายปูนซิเมนต์ตามคำสั่งของโจทก์จำเลยจะต้องรับผิดใน ความเสียหายจากการนั้นซึ่งเมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องชำระเงินให้โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๔๔,๒๙๕.๖๒ บาทและ ๑๔,๐๓๒.๒๓ เหรียญสหรัฐมลายู แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ คือเงินราคาปูนซิเมนต์ที่ค้างชำระให้แก่จำเลย ปรากฎว่าโจทก์ได้ปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้รายนี้เป็นเงินเหรียญสหรัฐมลายู แต่จะชำระให้เป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนของรัฐบาล ศาลฎีกาเห็นว่าแม้สัญญาฉะบับแรกจะมีข้อความว่าชำระราคาเป็นเงินสดชำระได้ที่สิงคโปร์หรือกรุงเทพฯก็ดี แต่ในสัญญาฉะบับที่ ๒ คู่สัญญาได้ตกลงกันเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว โดยโจทก์สัญญาว่าจะชำระเป็นเงินเหรียญสหรัฐมลายู และชำระที่สิงคโปร์แต่สถานเดียว โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในข้อนี้โจทก์ต้องรับผิดเมื่อต่างฝ่ายต่างจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ โดยทรัพย์สินต่างประเภทอันจะหักทอนกันมิได้เช่นนี้ แม้จำเลยจะยกข้อนี้ขึ้นต่อสู้เพียงให้ยกฟ้องโจทก์ก็ดี ศาลย่อมพิพากษาบังคับได้เพียงเท่าที่ไม่เกินคำขอของโจทก์ คือให้โจทก์จัดการชำระหนี้โดยส่งมอบเงินเหรียญสหรัฐมลายู จำนวน ๓๐,๓๗๗.๙๖ เหรียญให้แก่จำเลย โดยหักหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์เป็นเงินเหรียญ ๑๔,๐๓๒.๒๓ เหรียญออกเสียก่อน โจทก์คงมีหน้าที่ส่งมอบแต่เพียง ๑๖,๓๔๕.๗๓ เหรียญให้แก่จำเลย แลหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศนี้เมื่อจะต้องชำระตามคำบังคับของศาลในประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนเป็นเงินตรา ประเทศไทย ซึ่งมาตรา ๑๙๖ แห่ง ป.ม.แพ่งฯ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราที่โจทก์กล่าวในฟ้องอัตราของรัฐบาล ๑ เหรียญสหรัฐมลายูเท่ากับ ๔ บาท ๗๗ สตางค์นั้น มิใช่เป็นอัตราที่จะแลกเปลี่ยนได้ในท้องตลาด ศาลฎีกาเห็นว่าตามความในมาตรา ๑๙๖ ที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินนั้นย่อมต้องหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี และหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระก็ยังคงต้องเป็นเงินเหรียญสหรัฐมลายูตามสัญญาจนกว่าจะถึงเวลาที่โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ คือส่งมอบเงินเหรียญนั้น แต่เพื่อสดวกแก่การบังคับคดีซึ่งศาลจะต้องพิพากษาเป็นเงินตราของประเทศ
ศาลฎีกาจึงพิพากษา ณ ที่นี้ว่าให้โจทก์ส่งมอบเงินเหรียญสหรัฐมลายู ๑๖,๓๔๕.๗๗ เหรียญให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยชำระเงินตรา ๑๔๔,๒๙๕.๖๒ บาทให้แก่โจทก์หรือมิฉะนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐมลายู ๑๖,๓๔๕.๗๓ เหรียญนั้นให้เป็นเงินตราของประเทศโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชในกรุงเทพฯ ทำการขายเหรียญสหรัฐมลายูเป็นเงินตราของประเทศในวันที่มีคำพิพากษานี้ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนี้ ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา เมื่อคำนวณได้เท่าใดให้หักกลบลงกับจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระ เหลือเท่าใดให้จำเลยชำระให้โจทก์เพียงเท่านั้น ถ้าไม่มีเหลือหรือจำนวนที่โจทก์จะต้องชำระมีมากกว่า ก็ยกฟ้องโจทก์เสีย

Share