แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานสอบสวนหรืออัยยการขอให้ศาลขังจำเลยระหว่างสอบสวนตาม ป.วิ.อาญามาตรา 87 จนครบกำหนด และศาลปล่อยตัวจำเลยไปแล้วเช่นนี้ จะมาขอให้ศาลสั่งขังอีกย่อมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยใหม่เพื่อฟ้องเป็นคดี จะควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้เสียเลย เจ้าพนักงานยังคงควบคุมผู้ต้องหาได้ตามที่จำเป็นตามพฤตติการณ์แห่งคดีตามตอนต้นแห่ง มาตรา 87 คือเพียงเท่าที่จะนำตัวจำเลยมาส่งศาลโดยแท้เท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่น เช่นสอบสวนต่อไปหรือรออัยยการสั่งฟ้องไม่ได้
อัยยการฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนครบกำหนดจนศาลสั่งปล่อยตัวไปแล้วเช่นนี้ ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้องและออกหมายจับให้เพราะเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ มิฉะนั้นจะเป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย (อ้างฎีกาที่ 126/2489)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2419)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยลักสร้อยคอทองคำของนายสังเวียนไป ๑ เส้น ราคา ๗๕ บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยมาควบคุมไว้ในระหว่างสอบสวนตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ถึง ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๘ แล้วได้ขอให้ศาลขังต่อไปอีกจนถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๘๘ จึงได้ปล่อยตัวไป โดยครบกำหนดที่ศาลสั่งขังไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานสอบสวนเสร็จ คดีมีมูล แต่ติดตามตัวจำเลยไม่พบ และไม่ปรากฏว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งที่ใด จึงขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๘๘
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามป.วิ.อาญามาตรา ๑๔๑, ๑๔๒, ๑๔๓ อัยยการจะต้องมีตัวจำเลยมาด้วย เว้นแต่จำเลยจะต้องขังอยู่ และตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๗๗ ข้อ ๒,๓,๔ ในกรณีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามา ก็ให้อัยยการแจ้งไปยังอธิบดีกรมตำรวจออกหมายจับต่อไป เพียงแต่พนักงานสอบสวนแจ้งมาว่าหาตัวและที่อยู่จำเลยไม่พบ ยังไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลออกหมายจับได้ จึงไม่รับประทับฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า ตามมาตรา ๑๔๑ ตอนท้ายบัญญัติว่า ถ้าพนักงานอัยยการเห็นว่า ควรสั่งฟ้องก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ฯลฯ ประกอบกับมาตรา ๑๖๕ ในคดีซึ่งพนักงานอัยยการเป็นโจทก์ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวจำเลยมาศาล ฯลฯ ฉะนั้น เมื่ออัยยการยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหน้าที่ของอัยยการโจทก์จะต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล และถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลอาจไม่รับประทับฟ้องได้ เพราะถ้าศาลรับฟ้องและออกหมายจับตาม ป.วิ.อาญามาตรา ๑๖๙ ให้ก็เป็นการยืดอายุความอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย (อ้างฎีกาที่ ๑๒๖/๒๔๘๙) ฉะนั้นปัญหาจึงมีว่า เมื่อโจทก์ขอให้ศาลขังระหว่างสอบสวนตามมาตรา ๘๗ จนศาลปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีเช่นนี้ โจทก์จะมีทางนำตัวจำเลยมาส่งศาลหรือไม่ หากยังมีทางอยู่ก็ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้องและออกหมายจับให้
ในกรณีเช่นคดีนี้ แม้โจทก์จะมาขอให้ศาลสั่งขังจำเลยอีกไม่ได้ จำเลยก็ยังอาจถูกพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอำนาจจับอีกได้ และก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยใหม่เพื่อฟ้องเป็นคดี จะควบคุมผู้ต้องหาอีกไม่ได้เสียเลย เจ้าพนักงานยังคงควบคุมผู้ต้องหาได้ตามที่จำเป็น ตามพฤตติการณ์แห่งคดีตามตอนต้นแห่งมาตรา ๘๗ นั้น คือเพียงเท่าที่จะนำตัวจำเลยมาส่งศาลโดยแท้เท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่นเช่นสอบสวนต่อไปหรือรออัยการสั่งฟ้องไม่ได้
เมื่อเจ้าพนักงานยังมีอำนาจที่จะดำเนินการเพื่อเอาตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ก็ไม่ชอบที่ศาลจะรับประทับฟ้อง และออกหมายจับให้ จึงพิพากษายืน