คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้เมื่อเห็นสมควร โดยไม่ต้องระบุว่าปัญหานั้นเกี่ยวกับข้อกฎหมายใดเกิดขึ้นเป็นคุณแก่ฝ่ายใด
ฟ้องว่าจำเลยไม่พอใจโจทก์หาทางให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยนำความเท็จเสนออธิการบดีให้พิจารณาโทษโจทก์หลายครั้งผลเป็นเท็จทุกครั้ง โดยมิได้กล่าวว่าจำเลยนำความเท็จเสนออธิการบดีว่ากระไร เมื่อใด เป็นเท็จอย่างใด ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา
ถ้อยคำที่ไม่ถือว่าเป็นการใส่ความอันจะเป็นการละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการประจำคณะเศรษฐศาสตร์และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยปฏิบัติงานก้าวก่ายเข้ามาในขอบเขตการงานในตำแหน่งของโจทก์โจทก์คัดค้านในที่ประชุมมหาวิทยาลัย ในที่ประชุมคณบดี และในบางกรณีได้เขียนทักท้วงไปยังจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจโจทก์ และพยายามหาทางให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์กล่าวคือ เมื่อ ๑๘ ส.ค.๙๘ จำเลยใส่ความโจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ โดยกล่าวต่อหน้าคนแต่ ๒ คนขึ้นไปในเรื่องสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้รับนักเรียนสำเร็จปีที่ ๓ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์และให้รับนักศึกษาซึ่งสำเร็จวิชาการหนังสือพิมพ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นั้นว่า “ผมเอง (จำเลย)ได้คัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ฉะเพาะแต่อัสสัมชัญพาณิชย์เท่านั้น แม้พวกหนังสือพิมพ์จุฬาลงกรณ์ก็คัดค้านมาแต่ต้น และได้คัดค้านข้อเสนอที่จะให้รับนักเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์หลายครั้งแต่ในสภามหาวิทยาลัยพวกขุนประเสริฐ (โจทก์) มีมากนัก ผม (จำเลย) ก็เลยแพ้โหวตเขา (โจทก์) และว่า “ถ้านักศึกษาต้องการให้ออกมันก็ออกได้นะซิ” หมายความว่า ให้โจทก์ออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่เป็นความจริง ความจริงสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้รับนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญเข้าเป็นนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ได้ เกี่ยวกับนักศึกษาที่สำเร็จวิชาการหนังสือพิมพ์จากจุฬาลงกรณ์นั้น ตามข้อบังคับระบุให้รับไว้แน่นอน จำเลยในฐานะเลขาธิการได้สั่งรับเข้าเป็นนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยจำเลยมิได้คัดค้าน นักศึกษาไม่มีอำนาจและหน้าที่จะแสดงการบังคับขู่เข็ญให้คณบดีออกหรือให้อธิการบดีสั่งคณบดีพ้นจากตำแหน่ง จำเลยมีหน้าที่จะชี้แจงความจริงให้นักศึกษาทราบ ในเมื่อนักศึกษาแสดงปฏิกิริยา ซึ่งจำเลยทราบล่วงหน้าแล้วว่า ในวันเกิดเหตุนักศึกษากลุ่มหนึ่งประพฤติผิดวินัย ทำการปิดการบรรยายโดยพลการ โดยประสงค์จะบีบคั้นบังคับให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งคณบดีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นแจกและปิดบัตรสนเท่ห์ประนามโจทก์ ถือป้ายเขียนข้อความประจานโจทก์และบุกรุกคร่าตัวโจทก์ลงมาหน้าตึกบัญชาการมหาวิทยาลัยให้โจทก์ชี้แจงเรื่องนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์โจทก์ชี้แจงตามความจริง แต่นักศึกษาแกล้งทำไม่เข้าใจและกล่าวคำบริภาษเหยียดหยามท้าทายให้โจทก์ออกจากตำแหน่งคณบดี ทำให้โจทก์ต้องอับอายเสียชื่อเสียงต่อหน้านักศึกษาราว ๒,๐๐๐ คน แต่โจทก์ไม่ยอมลาออก ต่อมาเวลา ๑๓.๓๐ น.จำเลยจัดการให้นักศึกษามาฟังคำชี้แจง จำเลยจงใจกล่าวความอันไม่เป็นความจริงและปิดความจริงไว้ดังฟ้อง เป็นเหตุให้นักศึกษามีความกระด้างกระเดื่อง ต่อมาได้มีการเดินขบวนประนามโจทก์ เพื่อรบเร้าอธิการบดีจัดการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งจนจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งนักศึกษากลุ่มนั้นออกหนังสือพิมพ์ว่าลาออกแทนโจทก์ ๆ คำนวนค่าเสียหายในการที่จำเลยละเมิดครั้งนี้เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเงินจำนวนนี้
จำเลยให้การรับในเรื่องตำแหน่งของโจทก์จำเลย แต่ปฏิเสธว่าจำเลยมิได้ใส่ความโจทก์ดังฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ววินิจฉัยข้อที่กล่าวหาว่า จำเลยไม่พอใจโจทก์หาทางให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยนำความเท็จเสนออธิการบดีให้พิจารณากล่าวโทษโจทก์หลายครั้ง ผลปรากฎว่าเป็นเท็จทุกครั้งนั้น ไม่ปรากฎว่านำความเท็จเสนออธิการบดีอย่างใด เมื่อใด เป็นฟ้องเคลือบคลุมส่วนข้อกล่าวหาว่าใส่ความโจทก์นั้น ไม่เป็นถ้อยคำที่ใส่ความเข้าลักษณะที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้างตามคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นได้เมื่อเห็นสมควรไม่จำเป็นต้องระบุบอกไว้ว่าปัญหานั้นเกี่ยวกับข้อกฎหมายใดเกิดขึ้นอันจะวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลย และที่โจทก์กล่าวหาจำเลยนำความเท็จเสนออธิการบดีนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยนำความเท็จเสนออธิการบดีว่ากระไร เมื่อใด เป็นเท็จอย่างใด จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และถ้อยคำที่โจทก์หาว่าจำเลยพูดก็มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ พิพากษายืน

Share