คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นทำคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามมาตรา 24 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งชี้ขาด เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ได้ความพอที่จะมีคำสั่งเช่นนั้น จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว หาใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ไม่ คู่ความย่อมฎีกาได้
แม้ศาลชั้นต้นสั่งชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 แล้ว เมื่อศาลสูงเห็นว่า รูปคดียังไม่สมควรชี้ขาดเบื้องต้น ก็ให้ยกคำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นของศาลชั้นต้นเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้ง ๕ โอนโรงสีไฟพร้อมด้วยอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย
จำเลยที่ ๒ และ ที่ ๕ ให้การต่อสู้ข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย กับขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฏหมายตามข้อตัดฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อตัดฟ้องแล้ว เห็นว่า ข้อตัดฟ้องฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ ๒-๕ อุทธรณ์ในปัญหาข้อตัดฟ้อง โดยขอให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ต้องพิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๒-๕ ยังเถียงข้อเท็จจริงกับโจทก์อีกมากมาย ศาลชั้นต้นยังไม่ควรทำคำสั่งวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามที่จำเลยขอมา ตามมาตรา ๒๔ ก็มิได้บังคับศาลว่าจะต้องทำคำสั่งวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นเสมอไป จะทำหรือไม่ก็ได้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
จำเลยที่ ๒ – ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามมาตรา ๒๔ แล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้หาใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ไม่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะฎีกาได้ตามมาตรา ๒๔ วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ – ๒๔๗ แต่ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า ตามรูปคดียังไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ได้ความเพียงพอที่จะมีคำสั่งเช่นนั้น จึงพิพากษายืน

Share