คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลย 4 คนถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ปรับร่วมกันเป็นเงิน 66,789.80 บาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30 ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลย 4 คน ก็ต้องแบ่งการกักขังได้คนละ 6 เดือน ตามนัยฎีกาที่ 535/2493 ที่ศาลชั้นต้นให้กักขังคนละ 1 ปี เป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดี ๕ สำนวนนี้โจทก์แยกฟ้องดังนี้
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง ๔ คน หาว่าร่วมกันนำและพาหูปลาฉลามแห้ง ๒๕ กระสอบ กะเพาะปลากดแห้ง ๑ กระสอบ กะเพาะปลากุเลาแห้ง ๑ กระสอบ รวมราคา ๖,๙๖๕ บาท เป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีศุลกากร ไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เงินค่าภาษีอากร ๙,๗๓๒.๔๕ บาท เหตุเกิดตำบลบางวัน กิ่งอำเภอเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๒๗ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๔๘๐ ริบของกลาง และนับโทษต่อ
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ
สำนวนที่ ๒,๓,๔,๕ โจทก์ฟ้องจำเลยแต่ละคนว่า เป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เข้ามาอยู่ที่ตำบลบางวัน กิ่งอำเภอเกาะคอเขา จังหวัดพังงา โดยทางทะเล มิใช่ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่รับอนุญาต ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มิได้ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงาน และมิได้รายงานตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๑๕,๒๑,๔๔,๕๘,๖๐ และนับโทษต่อ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดี ๕ สำนวนรวมกัน พิพากษาว่าจำเลยทุกคนผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องทั้ง ๕ สำนวน ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ กระทงหนัก จำคุกคนละ ๑ ปี ปรับ ๔ เท่าของราคาของรวมค่าอากร ปรับรวมกัน ๖๖,๗๘๙.๘๐ บาท จำเลย ๔ คน จึงปรับคนละ ๑๖,๖๙๗.๔๕ บาท ถ้าจะกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังคนละ ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยทุกคนทั้ง ๕ สำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาทั้ง ๕ สำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง ๕ สำนวนมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา แต่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับคนละ ๑ ปีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐ บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกิน ๑ ปี แต่ไม่เกิน ๒ ปีก็ได้ คดีนี้จำเลยถูกปรับรวมกันตามพระราชบัญญัติศุลกากรเป็นเงิน ๖,๗๘๙.๘๐ บาท จึงกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ไม่เกิน ๒ ปี เมื่อจำเลย ๔ คน ก็ต้องแบ่งการกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้คนละ ๖ เดือน ตามนัยฎีกาที่ ๕๓๕/๒๔๙๓ การกักขังแทนค่าปรับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้ถูกต้อง พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้นเว้นแต่ถ้าจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับ ให้กักขังจำเลยไว้คนละ ๖ เดือน

Share