คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาฐานวางเพลิงที่โจทก์ถูกฟ้องข้อสำคัญในคดีก็คือ โจทก์วางเพลิงหรือไม่จำเลยเบิกความโดยนำข้อความที่ตนได้ยินจากคำพูดบุตรสาวโจทก์ที่พูดว่าโจทก์ (“เป็นหยังตำรวจไม่มาลากคอมันไปบักเพลิงใหญ่”) ซึ่งข้อความที่บุตรสาวโจทก์พูดนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ จำเลยไม่ได้ยืนยัน ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดฐานเบิกความเท็จ (อ้างฎีกาที่ 172/2483)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสาบานตัวแล้วเบิกความต่อศาลมณฑลทหารบกที่ ๖ (ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด) ว่า จำเลยไปดูเพลิงไหม้กับนางทัศนีย์แวะที่ร้านจำเลยที่ ๒ (โจทก์) ที่ข้างโรงภาพยนต์ พบจำเลยที่ ๒ (โจทก์) กับภริยาและบุตรอีก ๒ คน ภริยาให้บุตรคนเล็กไปซื้อไข่แต่ไม่ได้ นางทัศนีย์จึงว่าทำไมไม่ใช้ผู้ชาย จำเลยที่ ๒ (โจทก์) พูดโพล่งออกมาด้วยคำหยาบแล้วเดินหนีไปบุตรสาวคนโตจึงบ่นเบา ๆ ว่า “เป็นหยังตำรวจไม่มาลากคอมันไปบักเพลิงใหญ่” ต่อจากนั้นจำเลยก็จากไป จำเลยสงสัยว่าจะเป็นจริงดังเด็กพูดเพราะเป็นพ่อลูกกันคงเป็นจำเลยที่ ๒ (โจทก์) จุดเพลิงรายนี้อันเป็นเท็จ ความจริงเหตุการณ์มิได้เกิดขึ้นดังจำเลยเบิกความ และจำเลยก็มิได้ไปที่ร้านโจทก์
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๗, ๑๘๑(๑) (๒)
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบไม่มีมูลพอที่จะฟังว่าจำเลยได้ทำผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีอาญาฐานวางเพลิงที่โจทก์ถูกฟ้อง ฉะนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้ยินบุตรสาวโจทก์กล่าวถ้อยคำตามที่จำเลยเบิกความนั้นจริงหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ได้ พิพากษายืนในผลให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะมีผิดตามมาตรานี้ จะต้องได้ความว่าจำเลยนำความที่เป็นเท็จมาเบิกความในข้อสำคัญในคดีอาญาดังกล่าว ข้อสำคัญก็คือ โจทก์วางเพลิงหรือไม่แต่จำเลยคดีนี้หาได้เบิกความในข้อสำคัญนี้ไม่ แต่เบิกความโดยนำข้อความที่ตนได้ยินจากคำพูดของบุตรสาวโจทก์ที่พูดว่าโจทก์ ซึ่งข้อความที่บุตรสาวโจทก์พูดนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ จำเลยมิได้ยืนยัน คดีโจทก์จึงไม่มีมูล
พิพากษายืน

Share