คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ผู้เสียหายเบิกความถึงวันที่ที่เกิดเหตุไม่ตรงกับในฟ้อง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำวันเกิดเหตุไม่ได้แน่นอน แต่ตามคำของผู้เสียหายว่าได้แจ้งความในวันเกิดเหตุและพนักงานสอบสวนจดคำให้การในวันรุ่งขึ้น เมื่อปรากฏว่าในคำให้การชั้นสอบสวน ผู้เสียหายให้การวันที่ที่เกิดเหตุตรงกับในฟ้อง ทั้งพยานโจทก์อีกผู้หนึ่งที่เบิกความว่าเกิดเหตุวันที่เท่าใดจำไม่ได้นั้น ก็ให้การไว้ในคำให้การชั้นสอบสวนถึงวันที่ที่เกิดเหตุตรงกับในฟ้อง เช่นนี้ ถือว่าทางพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเกิดเหตุไม่ต่างกับฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ เวลากลางวัน จำเลยได้ชิงทรัพย์ของนายอ่อนสาไปโดยทุจริต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้จำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว โจทก์ว่าเกิดเหตุวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ แต่นายอ่อนสาผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดเหตุวันที่ ๒๙ ภุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ซึ่งในปี ๒๕๐๘ เดือนกุมภาพันธ์มีเพียง ๒๘ วัน จึงเห็นได้ชัดว่าในวันที่ผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล ผู้เสียหายจำวันเกิดเหตุไม่ได้แน่นอน โจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเป็นพยานต่อศาล ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ว่า เกิดเหตุวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ส่วนนายบุญมาพยานก็เบิกความว่าเกิดเหตุวันที่เท่าใดจำไม่ได้ เดือน ๔ ปีนี้ (๒๕๐๘) และโจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของพยานต่อศาล ปรากฏว่าพยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ว่าเกิดเหตุวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ตรงกับคำให้การของผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำของผู้เสียหายว่าได้แจ้งความต่อตำรวจในวันเกิดเหตุและพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจดคำให้การในวันรุ่งขึ้น คดีจึงฟังได้ว่าเกิดเหตุวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ไม่มีทางที่จะฟังว่าเกิดเหตุในวันอื่น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเกิดเหตุต่างกับฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share