คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 นั้น ไม่ว่าจะไปแจ้งเองหรือตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยาน ก็เป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งมาตรานี้ทั้งนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒,๓ ได้บังอาจให้การเป็นพยานต่อร้อยตำรวจตรีด้วง พนักงานสอบสวนอำเภอเมืองลพบุรีว่า นายบรรจง ศรีสุคนธ์ ได้ถึงแก่กรรมความจริงจำเลยที่ ๒,๓ รู้อยู่แล้วว่านายบรรจงไม่ได้ถึงแก่กรรม ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาจะช่วยนายบรรจงเพื่อมิให้ต้องโทษ เป็นเหตุให้ร้อยตำรวจตรีด้วงและกรมตำรวจเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗,๘๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ขาดองค์ประกอบ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗ และไม่เป็นผิดตามมาตรา ๑๘๙ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒,๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗,๘๓ ให้จำคุก ๔ เดือน ลดกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๒ เดือน
จำเลยที่ ๒,๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒,๓ ฎีกาว่า การที่จำเลยให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนนั้น แม้ผิดพลาดไม่ตรงความจริง ก็ไม่ผิดฐานแจ้งเท็จ
ศาลฎีกาเห็นว่า การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๓๗ นั้น ไม่ว่าจะไปแจ้งเองหรือตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยาน ก็เป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งมาตรานี้ทั้งนั้น ตามนัยฎีกาที่ ๑๐๕๗/๒๔๗๗ และ ๑๗๓๔/๒๕๐๓(ประชุมใหญ่)
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share