คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่า มีข้อความกำหนดการชำระค่าเช่ากันว่า ถ้าผู้เก็บค่าเช่ามิได้ไปเก็บค่าเช่า จนล่วงพ้นวันที่ 7 ของเดือนนั้นไปแล้ว ผู้เช่าจะต้องนำค่าเช่าประจำเดือนนั้นไปชำระ ณ สำนักงานของผู้ให้เช่าภายในวันที่ 10 ของเดือนนั้น และมีอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญานี้ในข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิจะบอกเลิกเพิกถอนสัญญาเช่าได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ดังนี้เมื่อผู้เช่างดส่งค่าเช่าถึง 3 เดือนผู้ให้เช่าจึงบอกเลิกสัญญาเช่า โดยไม่ต้องบอกกล่าวตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 560 ได้ เพราะความในมาตรา 560 นี้ จะยกมาใช้ได้ต่อเมื่อมิได้มีข้อสัญญาดังกล่าวต่อกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า อ้างเหตุว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารวม ๓ เดือน
จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ผิดนัดได้ส่งค่าเช่าไปชำระทางธนาณัติแล้วได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ
ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องพิพาทของบริษัทไทยนิธิ เพื่อประกอบการค้ามีกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๐ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๙๓ ค่าเช่าประจำเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ๒๔๙๑ จำเลยมิได้ชำระ ครั้นวันที่ ๑๔ ตุลาคม โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังจำเลย ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม จำเลยจึงส่งค่าเช่าไปชำระทางธนาณัติ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงเชื่อไม่ได้ว่าได้มีการบอกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง จะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ได้โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖๐ แห่ง ป.ม.แพ่งฯ เพราะในสัญญาเช่ามีข้อความกำหนดไว้แล้วว่า ถ้าผู้เก็บค่าเช่ามิได้ไปเก็บค่าเช่า จนล่วงพ้นวันที่ ๗ ของเดือนนั้นแล้ว ผู้เช่าต้องนำเงินค่าเช่าไปชำระ ณ สำนักงานของผู้ให้เช่าภายในวันที่ ๑๐ ของเดือนนั้น และมีอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญานี้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้เช่าตามกฎหมายผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิจะบอกเลิกเพิกถอนสัญญาเช่าได้ทันที โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ทราบก็ได้
ส่วนเงินค่าเช่าที่จำเลยส่งไปชำระเป็นการส่งภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จึงไม่ผูกพันโจทก์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าจะยกมาตรา ๕๖๐ มาบังคับมิได้เพราะโจทก์จำเลยมิได้มีสัญญาไว้ชัดเจนในข้อ ๕ และข้อ ๑๔ ดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างดังได้กล่าวข้างต้น ความในมาตรา ๕๖๐ จะยกมาใช้ต่อเมื่อมิได้มีข้อสัญญาต่อกัน
จึงพิพากษายืน

Share