แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ต้นพลูเป็นต้นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน
โจทก์เป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์ปลูกต้นพลูเสียแล้ว แม้จำเลยจะร่วมกันตัดต้นพลู ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันสับฟันขุดถอนต้นพลูซึ่งโจทก์ได้อาศัยปลูกอยู่ในที่ของผู้มีชื่อ เสียหาย ๕๕ ค้าง เป็นเงิน ๕,๕๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๘,๓๕๙(๔)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นปรับจำเลยคนละ ๕๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินแปลงที่โจทก์ปลูกต้นพลูนี้ ขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ตกเป็นของนายพื่อม จำเลยที่ ๔ แล้วต้นพลูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๘ ถือเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของนายเพื่อมจำเลยที่ ๔ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้นพลูก็ตกเป็นของนายเพื่อมจำเลยที่ ๔ ฉะนั้น หากจะรับฟังดังพยานโจทก์ว่านายเพื่อมจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๑,๒,๓ สับฟันขุดถอนต้นพลูรายพิพาทไป ก็ย่อมไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะนายเพื่อมจำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของต้นพลู โจทก์แม้จะเป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเพื่อม จำเลยที่ ๔ เจ้าของที่ดินซึ่งปลูกต้นพลูเสียแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๘ ดังโจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒(๔) จึงไม่มีอำนาจจะมาฟ้องจำเลยทั้ง ๔ ได้ จึงพร้อมกันพิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาโจทก์เสีย