คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1309/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พวกจเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายภายหลังที่จำเลยหยิบทรัพย์แล้ว เป็นการกระทำต่อเนื่องกันกับการลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การที่จำเลยกับพวกจะพาทรัพย์หนีหรือเพื่อปกปิดการกระทำผิด หาใช่การชิงทรัพย์ขาดตอนแล้วไม่ จำเลยต้องร่วมรับผิดในผลที่พวกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย
โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2507 พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าเหตุเกิดตามวันดังกล่าวแต่แพทย์ผู้รับตัวผู้เสียหายได้ทำบันทึกการชันสูตรบาดแผลเขียนเลย 27 ติดต่อกัน ทำให้ดูคล้ายเลข 24 จึงทำให้ผู้คัดสำเนาบันทึกคัดเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง และแม้จำเลยจะได้รับสำเนาบันทึกการชันสูตรบาดแผลซึ่งคัดวันเกิดเหตุผิดพลาด ก็ไม่ทำให้จำเลยผิดหลงเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ เพราะจำเลยรับอยู่แล้วว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปบ้านผู้เสียหายจริง ไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้
โจทก์ฟ้องว่า เกิดเหตุตำบลป่าไผ่ แม้พยานโจทก์บางปากจะเบิกความว่าที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่ที่ 2 ไม่ตรงกับรายงานชันสูตรพลิกศพว่าเหตุเกิดในหมู่ที่ 4 ทางพิจารณาก็ฟังได้ว่าเหตุเกิดที่บ้านผู้ตายซึ่งอยู่ในตำบลป่าไผ่ตรงตามฟ้องนั่นเอง ทั้งจำเลยก็ยอมรับว่าได้ไปที่บ้านที่เกิดเหตุจริง ปัญหาฐานที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่ที่ 2 หรือ หมู่ที่ 4 ของตำบลป่าไผ่จึงไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญแห่งคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ จำเลยกับพวก ๑ คน ร่วมกันลักวิทยุ ๑ เครื่องของนางคำออนไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกใช้ปืนยิงนางคำออนและนายเรียง จนนางคำออนรับอันตรายสาหัส และนายเรียงถึงแก่ความตาย ทั้งนี้โดยมีเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙,๒๘๘,๒๘๙ และให้ใช้ราคาทรัพย์
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำผิดตามฟ้อง แต่ไม่เป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ (๖) หรือ (๗) พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๓๙,๒๘๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ จำคุกจำเลย ๒๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมกับพวกลักวิทยุของนางคำออนผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนยิงนายเรียงถึงแก่ความตาย และยิงนางคำออนบาดเจ็บสาหัส
แต่รูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันกับพวกของจำเลย ตั้งใจจะฆ่าผู้เสียหายมาแต่ต้น จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ แต่การที่พวกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ภายหลังจากที่จำเลยหยิบวิทยุของผู้เสียหายแล้ว เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกันกับการลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การที่จำเลยกับพวกจะพาทรัพย์หนีไป หรือเพื่อปกปิดการกระทำผิด หาใช่การชิงทรัพย์ขาดตอนแล้วไม่ จำเลยต้องร่วมรับผิดในผลที่พวกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคท้ายด้วย
จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง อันเป็นสาระสำคัญ ๒ ประการ ประการแรก โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ แต่ทางพิจารณาได้ความตามคำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์พยานโจทก์ประกอบด้วยสำเนาบันทึกการชันสูตรบาดแผลซึ่งจำเลยส่งมาท้ายฟ้องอุทธรณ์ว่า เหตุเกิดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ประการที่ ๒ เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ ตามรายงานชันสูตรพลิกศพว่า เหตุเกิดหมู่ที่ ๔ ตำบลป่าไผ่ แต่พยานโจทก์ว่าเหตุเกิดในหมู่ที่ ๒ ไม่ตรงกัน
ศาลฎีกาเห็นว่า เกี่ยวกับวันเกิดเหตุ พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่า เหตุเกิดในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ แต่นายแพทย์ผู้บันทึกการชันสูตรบาดแผลเขียนเลข ๒๗ ติดต่อกัน ทำให้ดูคล้ายเลข ๒๔ จึงทำให้ผู้คัดสำเนาบันทึกคัดเป็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ อันเป็นความผิดพลาดของผู้คัดสำเนา ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง อย่างไรก็ดี แม้จำเลยจะได้รับสำเนาบันทึกการชันสูตรบาดแผลซึ่งคัดวันเกิดเหตุผิดพลาด ก็ไม่ทำให้จำเลยผิดหลงเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ เพราะจำเลยยอมรับอยู่แล้วว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปบ้านผู้เสียหายจริง ไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ สำหรับสถานที่เกิดเหตุ โจทก์ฟ้องว่าเหตุเกิดตำบลป่าไผ่ แม้พยานโจทก์บางปากจะเบิกความว่าที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่ที่ ๒ ไม่ตรงกับรายงานชันสูตรพลิกศพว่าเกิดเหตุในหมู่ที่ ๔ ก็อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดของพยานโจทก์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ทำรายงานชันสูตรพลิกศพ ถึงอย่างไรทางพิจารณาก็ฟังได้ว่าเหตุเกิดที่บ้านผู้ตายซึ่งอยู่ในตำบลป่าไผ่ ตรงตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั่นเอง ทังจำเลยก็ยอมรับว่าได้ไปบ้านที่เกิดเหตุจริง ปัญหาว่าฐานที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่ ๒ หรือหมู่ ๔ ของตำบลป่าไผ่ จึงมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญแห่งคดี
ไม่เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องโจทก์
พิพากษายืน

Share