คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7254/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ทำบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอม โดยมีช่องข้อความต่าง ๆ เหมือนกับบัตรข้าราชการตำรวจ และมีรายละเอียดช่องชื่อยศตำแหน่งและผู้ลงชื่อยศพลตำรวจเอก ตำแหน่ง อ.ต.ร. เพื่อใช้อ้างกับเพื่อนต่างประเทศว่าจำเลยเป็นตำรวจ ดังนั้นการกระทำของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 334และ 91 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22 และ23 ริบบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอมของกลางและริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 334 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6และ 23 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารราชการ วางโทษจำคุก2 ปี ฐานลักทรัพย์ วางโทษจำคุก 3 ปี และฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตวางโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก5 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 8 เดือน ริบบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอมของกลางและริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถยนต์ ยี่ห้อเบ็นซ์ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ฉ-3386 กรุงเทพมหานครรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า โคโรน่า สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน 7 ศ-3478กรุงเทพมหานคร ภายในรถโตโยต้ามีชะแลงเหล็ก คีมล็อกลูกบิด กุญแจปากตายเบอร์ 10-11 กุญแจปากตายเบอร์ 12-13 ประแจรวมเบอร์ 11ไขควงปากแบน เครื่องมือแหย่กุญแจ เครื่องมืองัดแงะอย่างละ 1 อันไขควงแฉก 2 อัน กุญแจรถยี่ห้อมิตซูบิชิ 1 ดอก กุญแจบ้านและคอนโดมิเนียม 6 พวง โฟนลิงค์หมายเลข 11604 วิทยุสื่อสารรุ่นไอค่อม รุ่นไอซีดับเบิลยู 21 เอที หมายเลขเครื่อง 06576 อย่างละ 1 เครื่อง บัตรข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโทชื่อพันตำรวจโทเจตนา พงศ์เฟื่องฟู สว.ผ. 3 กก.7 ส ปลอม 1 ใบ ใบอนุญาตขับรถยนต์ตลอดชีพชื่อนายเชง แยง 1ใบ ใบอนุญาตขับรถยนต์ตลอดชีพชื่อนายมนตรี พงศ์พจน์เกษม 1 ใบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข 5 ศ-3227 กรุงเทพมหานคร 2 แผ่นแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2539 เลขที่ 0223216อีก 1 แผ่น และพบกุญแจรถเบ็นซ์และกุญแจรถยี่ห้อโตโยต้าพร้อมรีโมทคอนโทรลอยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ควบคุมตัวจำเลยไว้แต่แรกคือนายชาญชัย ศรีสรวล เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานขับรถของลูกค้าสถานบริการวิคตอเรีย ซีเครท อาบอบนวด วันเกิดเหตุเวลา 17 นาฬิกาเศษมีคนขับรถเบ็นซ์ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ฉ-3386 กรุงเทพมหานครเข้ามาในสถานบริการดังกล่าวพยานจึงรับรถและขับไปจอดที่ลานจอดรถชั้น 2โดยมอบบัตรครึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของรถคันดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน พยานทราบชื่อเจ้าของรถภายหลังว่าชื่อนายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ แล้วนำกุญแจไปไว้ที่บอร์ดแขวนกุญแจ ต่อมาเวลา 18 นาฬิกาเศษ พยานเห็นชายคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่พนักงานรับรถขับรถยนต์เบ็นซ์คันดังกล่าวย้อนศรลงมา พยานเห็นว่าไม่ใช่พนักงานรับรถ จึงไปขวางหน้ารถและถามว่า ขับรถยนต์ย้อนศรลงมาได้อย่างไรและมีบัตรรับรถหรือไม่ ชายคนนั้นตอบว่า ไม่มี พยานบอกว่าหากไม่มี ก็ถือว่าเป็นการขโมยรถ พยานร้องบอกพนักงานคนอื่นให้มาควบคุมตัวจำเลยไว้และขับรถแอบชิดกำแพง นายจุมพล พิณทอง หัวหน้าพนักงานรับรถพาตัวจำเลยไปควบคุมไว้ที่ห้องพนักงานรับรถ พยานสอบถามจำเลย จำเลยบอกว่า มีนายหนวดให้ช่วยขับรถลงมาเพราะนายหนวดขับรถเกียร์ออโตเมติกไม่เป็น แต่ในสถานบริการไม่มีพนักงานรับรถชื่อหนวดมาเข้าเวรในขณะนั้น นายจุมพลจึงแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยมีนายจุมพลมาเบิกความสนับสนุน และโจทก์มีพันตำรวจโทปกรณ์ กิตติวัฒน์กับร้อยตำรวจเอกธงชัย กั้วห้วยขวาง มาเบิกความว่า เมื่อพยานทั้งสองได้รับแจ้งเหตุในคดีนี้ พยานทั้งสองและร้อยตำรวจเอกจักรพงษ์ วิวัฒน์วานิชไปยังที่เกิดเหตุและจับตัวจำเลยพร้อมกับค้นพบสิ่งของต่าง ๆ หลายรายการในรถยนต์โตโยต้าของจำเลยชั้นจับกุมได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ลักทรัพย์หรือรับของโจร ปลอมและใช้เอกสารปลอมและมีวิทยุสื่อสารไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 จำเลยอ้างว่านายหนวดซึ่งเป็นพนักงานสถานบริการวานให้จำเลยช่วยเลื่อนรถให้ เห็นว่า นายชาญชัยกับนายจุมพลเบิกความยืนยันว่าระยะเวลาทำงานช่วงนั้นไม่มีพนักงานชื่อหนวดร่วมทำงานอยู่ด้วยนายวิศิษฐ์ ตั้งวิเทศจิตต์ เบิกความเป็นพยานจำเลยอ้างว่าเป็นผู้มอบกุญแจรถเบ็นซ์ให้จำเลยช่วยเลื่อนรถเพราะรถเบ็นซ์จอดขวางรถยนต์กระบะนั้นนายวิศิษฐ์ ก็ไม่ได้มีชื่อว่าหนวดแต่มีชื่อเล่นว่า “เอี้ยง” ข้ออ้างที่ให้ช่วยเลื่อนรถนายชาญชัยพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยอ้างว่านายหนวดขับรถยนต์เบ็นซ์เกียร์ออโตเมติกไม่เป็น แต่ในชั้นพิจารณานายวิศิษฐ์พยานจำเลยเบิกความว่า พยานหาเบรกมือไม่พบ ดังนั้น หากจะฟังข้อเท็จจริงว่า มีพนักงานชื่อหนวดตามที่จำเลยอ้างนั้น นายหนวดเป็นพนักงานขับรถข้ออ้างว่าขับรถไม่เป็นหรือหาเบรกมือไม่พบนั้นย่อมไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ อีกประการหนึ่ง จำเลยเป็นลูกค้าของสถานบริการวิคตอเรีย ซีเครท แต่จอดรถอยู่ริมถนนฝั่งตรงกันข้ามกับสถานบริการดังกล่าวตามแผนที่เกิดเหตุหมาย จ.7จำเลยไม่ได้นำรถของจำเลยไปจอดที่ลานจอดรถของสถานบริการนั้นแต่อย่างใด แล้วเหตุใดจำเลยจึงต้องขึ้นไปบนลานจอดรถชั้น 2 ของสถานบริการดังกล่าว กรณียังไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่ามีพนักงานรับรถของสถานบริการนั้นวานให้จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าช่วยเลื่อนรถให้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่ามีพนักงานนำลูกกุญแจรถเบ็นซ์มาให้จำเลยอันส่อว่าเป็นการร่วมมือกันกระทำความผิด พฤติการณ์ที่จำเลยขับรถวนอยู่ 2 รอบดังที่จำเลยเบิกความนั้น แสดงว่าไม่ใช่การช่วยเลื่อนรถ แต่เป็นการพยายามหาช่องทางขับรถออกจากสถานบริการดังกล่าว เมื่อทางออกมีพนักงานอยู่หลายคนจำเลยจึงขับย้อนศรลงมาตามทางเข้าและถูกขัดขวางจับกุมตัวในที่สุดเมื่อพิจารณาคำพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งทำบันทึกหลังจากเกิดเหตุไม่นานในบันทึกระบุโดยชัดแจ้งว่าได้อ่านให้จำเลยฟังและจำเลยได้อ่านเอง แล้วรับว่าถูกต้องจึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จำเลยอ้างว่าไม่ได้อ่านข้อความจึงฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จริง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยความผิดฐานนี้ชอบแล้ว

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่จำเลยเบิกความรับว่าจำเลยเป็นผู้ทำบัตรข้าราชการตำรวจเอกสารหมาย จ.3ทำขึ้นเล่น ๆ ไม่มีเจตนานำไปใช้หรือแสดงต่อผู้ใด จำเลยทำบัตรตามเอกสารหมาย จ.3 โดยไม่ทราบว่าบัตรข้าราชการตำรวจที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไรวันเกิดเหตุจำเลยนำบัตรดังกล่าวมาคั่นหนังสือ บัตรตามเอกสารหมาย จ.3จึงอยู่ในรถยนต์ที่ขับไปเที่ยวที่จำเลยอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2542และกฎกระทรวง พ.ศ. 2504 ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาลและพนักงานองค์การของรัฐพ.ศ. 2498 ข้อ 2 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดรูปลักษณะของบัตรประจำตัวข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ หาใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทางอาญาที่จะต้องวินิจฉัยไม่เมื่อพิจารณาบัตรประจำตัวเอกสารหมาย จ.3 มีรายละเอียดช่องชื่อ ยศลงวา “พ.ต.ท.เจตนา พงศ์เฟื่องฟู” ตำแหน่ง “สว. ผ. 3 กก. 7 ส” ผู้ลงชื่อยศพลตำรวจเอก ตำแหน่ง อ.ต.ร. จำเลยตอบคำถามค้านว่า “ลอกข้อความจากบัตรข้าราชการตำรวจสันติบาล… คิดว่าจะนำบัตรตำรวจเอกสารหมาย จ.3 ไปใช้อ้างกับพรรคพวก ซึ่งอยู่ต่างประเทศว่า จำเลยเป็นตำรวจ ข้อความว่า “สว. ผ 3. กก. 7 ส” เป็นรหัสของเพื่อนอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นว่าบัตรประจำตัวเอกสารหมาย จ.3 จำเลยทำปลอมขึ้นโดยมีช่องข้อความต่าง ๆ เหมือนกับบัตรข้าราชการตำรวจจำเลยรับว่าทำบัตรเพื่อใช้อ้างกับเพื่อนต่างประเทศว่าจำเลยเป็นตำรวจฉะนั้น การทำเอกสารดังกล่าวจึงเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับอันเป็นความผิดตามฟ้อง

สำหรับความผิดฐานมีเครื่องรับวิทยุสื่อสารไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร้อยตำรวจเอกธงชัย กั้วห้วยขวางจับจำเลยได้พร้อมวิทยุสื่อสารซึ่งใช้ในราชการกรมตำรวจ 1 เครื่อง ยี่ห้อไอค่อมปิดสวิตซ์ไว้จำเลยไม่มีหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ใช้วิทยุสื่อสารดังกล่าวตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 พันตำรวจโทบุญส่ง อัตวอนันต์พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า วิทยุสื่อสารดังกล่าวเป็นวิทยุสื่อสารที่ใช้คลื่นในราชการตำรวจ ยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ตรวจสอบแล้วจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้วิทยุสื่อสารและไม่เคยได้รับการยกเว้นให้ใช้วิทยุสื่อสารได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตมาก่อน จำเลยอ้างว่าวิทยุสื่อสารติดอยู่ในรถยนต์โตโยต้าซึ่งมีผู้นำมาติดสัญญาณกันขโมยที่ร้านประดับยนต์ของจำเลยแล้วไม่มารับรถตามกำหนด จำเลยขับรถจะไปแจ้งความแต่แวะไปเที่ยวก่อนนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อความส่งรถไปตรวจพิสูจน์ของสถานีบริการตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆในเอกสารหมาย จ.10 ว่ารถยนต์โตโยต้าโคโรน่าคันที่จำเลยขับไปเป็นรถยนต์ของนางนงลักษณ์ มะลิแก้ว โดยรถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไปตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ผู้เสียหายแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ที่จำเลยอ้างว่ามีผู้นำรถยนต์มาติดสัญญาณกันขโมยแล้วไม่มารับรถคืนนั้น จำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานการรับรถยนต์ดังกล่าวไว้จากผู้นำรถมาติดสัญญาณกันขโมยแต่อย่างใดและพยานจำเลยในส่วนนี้ล้วนเป็นพนักงานของจำเลยทั้งสิ้น ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ดังที่จำเลยอ้าง การที่จำเลยครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุและภายในรถมีวิทยุสื่อสารซึ่งใช้การได้ตามปกติ ถือว่าวิทยุสื่อสารอยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีและใช้เครื่องวิทยุสื่อสาร จึงมีความผิดฐานมีวิทยุสื่อสารไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share