แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่คู่ความทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 นั้น แม้การมอบอำนาจจะมีหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าในการยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์จะต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจนั้นติดมากับฟ้องด้วย ซึ่งต่างกับกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61,63 และ 64 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องยื่นใบแต่งทนาย แสดงใบมอบอำนาจ ทำหนังสือแต่งตั้งหรือยื่นใบมอบฉันทะต่อศาล ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้ยื่นใบมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นคำฟ้อง ก็ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายแต่ประการใด
ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า หาใช่จำกัดเฉพาะผู้ทำสินค้าขึ้นเท่านั้นไม่ แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้า แต่เป็นผู้รับโอนเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ พร้อมด้วยกิจการบริการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะค้าขายสินค้าที่มีเครื่องหมายซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้น ฉะนั้น การที่จำเลยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าในบังคับแห่งสิทธิของโจทก์เข้ามาจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอม ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เพราะการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายย่อมเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ติดมากับสินค้านั้นด้วย (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2508)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องคดี ๓ สำนวนนี้ในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ และได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยละเมิดนำสินค้าเครื่องยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้า เข้ามาจำหน่าย จึงขอให้ศาลบังคับให้ยึดเครื่องยนต์ดังกล่าวและทำลายเครื่องหมายการค้านั้น กับเรียกค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอยู่ในฐานะตัวแทนจำหน่ายเครื่องยนต์เท่านั้น เครื่องหมายที่เครื่องยนต์ที่จำเลยสั่งเข้ามาเป็นเครื่องหมายที่แท้จริง จำเลยไม่ได้นำเครื่องหมายนี้ไปใช้ในการสั่งสินค้าของจำเลย ไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อค่าเสียหาย พิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ และพิพากษาใหม่
จำเลยทั้ง ๓ สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า ถ้าคู่ความ ฯลฯ ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้ เห็นว่า แม้การมอบอำนาจเช่นว่านั้นเป็นการมอบอำนาจโดยมีหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าในการยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์จะต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจนั้นติดมากับฟ้องด้วย ต่างกับกรณีตามมาตรา ๖๑,๖๓ และ ๖๔ ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ต้องยื่นใบแต่งทนายแสดงใบมอบอำนาจ ทำหนังสือแต่งตั้งหรือยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลด้วย ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้ยื่นต้นฉบับใบมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นคำฟ้อง ก็ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายแต่ประการใด
ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจห้ามจำเลยมิให้สั่งเครื่องนต์ที่มีเครื่องหมายการค้ารายนี้เข้ามาจำหน่ายหรือไม่นั้น แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้า แต่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าก็หาใช่จำกัดเฉพาะผู้ทำสินค้าขึ้นเท่านั้นไม่ โจทก์เป็นผู้เลือกทำการค้าขายและเสนอขายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น จึงอยู่ในความหมายของเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๔๗๔ นั้นด้วย ซึ่งตามมาตรา ๒๗ เมื่อโจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ พร้อมด้วยกิจการบริการจำหน่ายสินค้านี้ในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ กล่าวคือ มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะค้าขายและเสนอขายสินค้าที่มีเครื่องหมายที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา ๓ วรรค ๒ สิทธิในเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นการผูกขาดอยู่ในตัว หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิผูกขาดการขายสินค้า หากไม่รับอนุญาตจากโจทก์ดังที่จำเลยฎีกามาไม่ การที่จำเลยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าในบังคับแห่งสิทธิของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยโจทก์มิได้ยินยอม ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยรู้ถึงสิทธิของโจทก์ดีอยู่ก่อนแล้ว
เพราะได้ทราบจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมว่า ไม่สามารถส่งสินค้ามาให้จำเลยเพราะได้โอนสิทธิให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยยังขืนสั่งจากผู้อื่นเข้ามาจำหน่าย การใช้เครื่องหมายการค้ามิใช่จำกัดอยู่แต่เพียงเครื่องหมายการค้าไปติดเข้ากับสินค้าเท่านั้น การสั่งเข้ามาจำหน่ายย่อมเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ติดมากับสินค้านั้นประการหนึ่ง ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๗/๒๔๙๙ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย