คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขอให้นับโทษต่อนั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องแถลงให้ศาลทราบว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ประการใด เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องรู้เอง
ปัญหาที่ว่า คำกล่าวของจำเลยจะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้เสียหายโดยสุจริตหรือไม่ นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ลดรับสารภาพแล้ว ปรับ 600 บาท นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ 5 สำนวนตามคำขอท้ายฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ให้นับโทษต่อ โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำทั้ง 5 สำนวนนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์เป็นผู้ขอให้ศาลนับโทษต่อก็ต้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องแถลงให้ศาลทราบว่าคดีอาญาหมายเลขดำทั้ง 5 สำนวนนั้น ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ และลงโทษประการใด เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจนับโทษต่อให้ตามคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบแล้ว ศาลจะทราบได้อย่างไร เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลต้องรู้เอง และศาลก็ไม่มีหน้าที่จะต้องไปตรวจสอบคดีอาญาหมายเลขดำทั้ง 5 สำนวนนั้นด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่นับโทษจำเลยต่อนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคำกล่าวหมิ่นประมาทของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้เสียหายโดยสุจริตจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) เป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เห็นว่าการที่จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้เสียหายว่าสุจริตหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาใช้ดุลพินิจจากพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้เสียหายว่าสุจริตหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share