คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาเช่าห้องกันมีกำหนด 3 ปี สัญญาข้อหนึ่งมีว่า “เมื่อผู้ให้เช่าจะต้องการคืนห้องทั้งสองฝ่ายจะต้องบอกให้รู้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน” แต่คู่สัญญาก็ได้เขียนสัญญาต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า “เมื่อสิ้นอายุสัญญาฉะบับนี้แล้ว ผู้ให้เช่ายินดีจะทำสัญญาต่อให้แก่ผู้เช่าต่อไปอีกเป็นงวด ๆ จนครบ 10 ปี” ดังนี้ ก็ต้องแปลข้อสัญญาข้อหลังนี้เป็นข้อยกเว้นข้อสัญญาข้อแรกเสียแล้ว โดยผู้ให้เช่ายอมสละสิทธิตามที่เขียนไว้แต่เดิมในข้อแรกนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นเมื่อผู้เช่าได้แสดงเจตนาขอเช่าต่อไปแล้ว ผู้ให้เช่าก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกเช่าของโจทก์ อ้างว่าจำเลยเช่าเพื่อการค้า มีกำหนด 3 ปี บัดนี้หมดสัญญาเช่า ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยไม่ยอมออก
จำเลยต่อสู้ว่า เช่าเพื่ออยู่อาศัย ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสัญญาเช่าแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า แม้จะฟังว่าสัญญาข้อ 15 ผูกพันโจทก์ แต่ในสัญญาข้อแรก โจทก์ก็มีสิทธิเอาห้องคืนได้นั้น ปรากฎว่า สัญญาข้อ 11 มีความว่า “เมื่อผู้ให้เช่าจะต้องการห้องหรือผู้เช่าจะต้องการคืนห้อง ทั้งสองฝ่ายจะต้องบอกล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน” ฉะนั้นเมื่อคู่สัญญาได้เขียนสัญญาต่อกันไปอีกเป็นข้อ 15 ว่าเมื่อสิ้นอายุสัญญาแล้ว ก็จะต้องแปลว่าสัญญาข้อ 15 เป็นข้อยกเว้นของข้อ 11 นั้นเสียแล้ว และในเรื่องนี้จำเลยก็ได้แสดงความจำนงขอเช่าแล้ว
จึงพิพากษายืน

Share