คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 – 2 ปลูกเรือนในที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองกับบริวารออกจากที่ดินและรื้อถอนเรือนออกไป ต่อมาโจทก์ขอแก้ฟ้องว่า เรือนเป็นของมารดาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 – 2 อาศัยอยู่ด้วยในฐานะบริวาร ขอให้เรียกมารดาจำเลยที่ 2 มาเป็นจำเลยที่ 3 ด้วย ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้คำขอท้ายฟ้อง ซึ่งขอให้บังคับจำเลยที่ 1 – 2 ให้รวมถึงจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม ศาลก็ย่อมพิพากษาบังคับจำเลยที่ 3 ตามคำขอนั้นได้เพราะตามคำฟ้องเดิมของโจทก์ ประกอบคำร้องขอแก้ฟ้องก็ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ต่อจำเลยที่ 3 รวมทั้งขออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดแจ้งอยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด ๑๐๖๓๖ กับที่งอกริมตลิ่ง โดยซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล จำเลยที่ ๑ -๒ ได้ปลูกเรือน ๒ หลัง ครัว ๑ หลัง ในที่งอกดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนออกไป จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองกับบริวารออกจากที่ดินและรื้อถอนอาคารออกไป
จำเลยทั้งสองให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ว่างเปล่านอกโฉนด มิใช่ที่งอกของที่ดินโจทก์ จำเลยครอบครองมา ๒๓ ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้เรียกนางทองอ่อนมารดาจำเลยที่ ๒ เข้ามาเป็นจำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของเรือนและครัวดังกล่าว จำเลยที่ ๑ – ๒ อยู่ในอาคารของจำเลยที่ ๓ ในฐานะอาศัย ถือว่าเป็นบริวาร โจทก์ขอให้รื้อถอนอาคารออกไป จำเลยก็เพิกเฉย
จำเลยที่ ๑ – ๒ ให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมว่า อาคารในที่พิพาทมิใช่ของจำเลยที่ ๓ จำเลยทั้งสองมิใช่บริวารของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เรือนและครัวเป็นของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ – ๒ อยู่ร่วมในฐานะบริวาร เรือนและครัวบางส่วนอยู่ในที่งอกอันเป็นของโจทก์ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รื้อเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลสั่งรับฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รื้อเรือนออกไปนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามฟ้องโจทก์หรือไม่
ปรากฏว่า เดิม โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ – ๒ และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมกับรื้อเรือนออกไปด้วย ต่อมาโจทก์ขอแก้ฟ้องว่า ความจริงนางทองอ่อนเป็นเจ้าของเรือนจำเลยที่ ๑ – ๒ เป็นผู้อาศัย ขอให้หมายเรียกนางทองอ่อนมาเป็นจำเลยที่ ๓ อีกคนหนึ่ง ส่วนข้อความอื่นนอกจากที่แก้ไขเพิ่มเติม ขอให้ถือตามฟ้องเดิม ศาลอนุญาต และหมายเรียกนางทองอ่อนมาเป็นจำเลยที่ ๓
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การที่โจทก์ขอให้เรียกนางทองอ่อนมาเป็นจำเลยที่ ๓ นี้ เป็นการเข้ามาเป็นจำเลยหรือผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗ (๓) ซึ่งตามมาตรา ๕๘ บัญญัติว่า ผู้ร้องสอดตามอนุ (๑) (๓) แห่งมาตรา ๕๗ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จะเห็นได้ว่าในกรณีร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยตามอนุ (๑) โจทก์ไม่จำต้องแก้ฟ้องให้มีคำขอให้ผู้ร้องสอดต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างใดด้วย ศาลก็อาจมีคำพิพากษาบังคับถึงจำเลยผู้ร้องสอดนั้นได้ ไม่ว่าผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยนัยดังกล่าวสำหรับผู้ร้องสอดตามอนุ (๓) ถ้าคำขอตามฟ้องเดิมมีสภาพที่จะบังคับถึงผู้ร้องสอดเช่นนี้ได้ ศาลก็ย่อมพิพากษาให้บังคับผู้ร้องสอดตามคำขอนั้นได้ ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์ในคดีนี้ ประกอบกับคำร้องขอแก้ฟ้องก็ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๓ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดแจ้งอยู่แล้ว แม้โจทก์มิได้ขอแก้คำขอท้ายฟ้องซึ่งขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับบริวารให้รวมถึงจำเลยที่ ๓ ด้วยก็ตาม ก็คงมีผลเป็นคำขอให้บังคับแก่จำเลยที่ ๓ ในทำนองเดียวกันด้วย
จึงไม่เป็นการนอกฟ้อง
พิพากษายืน

Share