คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอ มิได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากนายอำเภอผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายพระเครืองในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ให้จำเลยมีหน้าที่จำหน่ายหรือรักษาเงินจำหน่ายพระเครื่อง หากจำเลยยักยอกเงินที่จำเลยจำหน่ายพระเครื่องได้ไป การกระทำของจำเลยก็มิใช่เจ้าพนักงานกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยคงมีความผิดฐานยักยอกธรรมดาตามมาตรา 352
การที่จำเลยแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินที่จำเลยทำขึ้นไว้เป็นส่วนตัวเพื่อแสดงทางได้เงินจากการจำหน่ายพระเครื่องซึ่งจำเลยจำหน่ายไปโดยจำเลยมิได้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้มีชื่อในต้นขั้วด้วยนั้น ไม่เป็นการปลอมเอกสาร แต่ถ้าหากจำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ซื้อไป แล้วแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินให้น้อยลง การกระทำของจำเลยก็เป็นการแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ซื้อ จำเลยจึงมีผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 268

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการตำแหน่งเสมียนตราอำเภอ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เก็บเงินจำหน่ายพระเครื่องในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ส่งคลังจังหวัด เป็นผลประโยชน์ของรัฐตามระเบียบข้อบังคับ จำเลยบังอาจใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตกล่าวคือ
(ก) เมื่อ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ จำเลยรับมอบพระเครื่อง เงินสดที่ขายได้ กับบัญชีลูกหนี้คิดเป็นจำนวนพระเครื่อง ๔,๕๐๐ องค์ จากนายเฉลี่ย จันทรสุคนธ์ ปลัดอำเภอและวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๐๐ รับมอบพระเครื่องและเงินที่ขายพระเครื่องคิดเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ องค์ จากร้อยตำรวจโทโกศล บุริตานนท์ รวมพระเครื่องที่จำเลยได้รับมอบ ๕,๕๐๐ องค์ จำเลยจำหน่ายพระเครื่องแก่ประชาชนไป ๑,๔๓๔ องค์ เป็นเงิน ๑๔,๓๔๐ บาท จำเลยส่งเงินที่ขายได้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ๖,๔๕๐ บาท คงเหลือเงินอยู่ที่จำเลย ๘,๑๙๐ บาท จำเลยเบียดบังยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย
(ข)เมื่อระหว่าง ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ถึง ๘ เมษายน ๒๕๐๓ จำเลยบังอาจทำเอกสารปลอมขึ้น โดยจำเลยแก้ไขตัวเลขในบันทึกการรับมอบพระเครื่องฉบับลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการคือแก้เลข ๔๘๕ เป็น ๓๔๐ เลข ๑๑ เป็น ๑๑๐ ฯลฯและจำเลยบังอาจทำใบเสร็จรับเงินซึ่งใช้ในราชการและเป็นเอกสารราชการปลอมขึ้น ๒ ฉบับ จำเลยได้แก้ไขเอกสารที่แท้จริงและปลอมขึ้นทั้งฉบับ ทั้งนี้โดยจำเลยทำเพื่อให้ทางราชการอำเภอสุวรรณภูมิหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร้อยตำรวจโทโกศล บุริตานนท์ ทางราชการแผนกมหาดไทย อำเภอสุวรรณภูมิและรัฐ เหตุเกิดที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๑๕๑,๑๕๗,๑๖๑,๒๖๔,๒๖๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๗,๑๓ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๘,๑๕๐ บาทแก่ทางราชการแผนกมหาดไทย อำเภอสุวรรณภูมิด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การจำหน่ายพระเครื่องเป็นหน้าที่ราชการของจำเลย แต่รูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยรับเงินค่าขายพระเครื่องแล้วยักยอกเงินเสียตามฟ้อง ส่วนข้อหาเรื่องปลอมเอกสารราชการฟังว่า จำเลยปลอมจริงโดยทำให้หน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมาย มีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗,๒๖๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลย ๒ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทุจริต ยักยอกเงินค่าขายพระเครื่อง ๘,๑๙๐ บาทจริงดังฟ้อง ข้อหาเรื่องปลอมใบเสร็จรับเงินเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะไม่มีเจตนาจะทำปลอม ส่วนหลักฐานการรับมอบพระเครื่องจากสถานีตำรวจ ฟังว่าจำเลยเป็นคนแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขจำนวนพระเครื่อง เป็นการปลอมเอกสารจริง แต่พยานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จำหน่ายพระเครื่องจานายอำเภอ จำเลยมิได้กระทำลงโดยหน้าที่ทางราชการที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมาย จึงไม่มีผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอก ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำทุจริต คงผิดฐานยักยอกธรรมดาตามมาตรา ๓๕๒ แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างบทมาตรานี้มาในฟ้อง แต่ก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้ว ศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ ส่วนเอกสารการรับมอบพระเครื่องที่จำเลยแก้ไขปลอมแปลงนั้น เป็นบันทึกที่จำเลยเขียนขึ้นไว้ทั้งฉบับ จำเลยมิได้มีหน้าที่ในการนั้น จึงเป็นเอกสารธรรมดามิใช่เอกสารราชการจำเลยคงมีผิดตามมาตรา ๒๖๘ พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดมาตรา ๒๖๔ กระทงหนึ่ง กับมาตรา ๓๕๒ อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษกระทงละ ๑ ปี รวมจำคุก ๒ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๘,๑๙๐ บาท แก่ราชการแผนกมหาดไทย นอกจากแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกเงินในตำแหน่งหน้าที่และใช้ตำแหน่งหน้าที่ทุจริตตามมาตรา ๑๔๗,๑๕๑,๑๕๗ และขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการตามฟ้อง เพราะเอกสารการกับมอบพระเครื่องเป็นเอกสารราชการ การที่จำเลยปลอมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีชื่อในใบเสร็จรับเงิน
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การจำหน่ายพระเครื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจัดสร้างพระเครื่องในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษสร้างขึ้นแล้วส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ช่วยจัดการจำหน่าย จึงเป็นงานพิเศษไม่มีระเบียบแบบแผนของทางราชการวางไว้แต่ประการใด คงมีแต่ระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายพระเครื่องตามเอกสาร จ.๒ ซึ่งคณะกรรมการจัดสร้างพระเครื่องได้กำหนดขึ้นไว้ และกระทรวงมหาดไทยส่งไปให้จังหวัดต่าง ๆ ถือปฏิบัติ ตามข้อ ๒ แห่งระเบียบนี้กำหนดว่า พระเครื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งจ่ายให้อำเภอรับไปจำหน่ายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของนายอำเภอ ปลัดกิ่งอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ ฯลน ไม่ได้ระบุว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเสมียนตราอำเภอเลย ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้มีหน้าที่จำหน่ายพระเครื่องรายนี้ แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฎว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ทำหน้าที่นี้แทน เหตุที่จำเลยจะเข้าเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายพระเครื่องก็เพราะปลัดอำเภอผู้จำหน่ายพระเครื่องจะไปอบรมที่กรุงเทพฯ จึงมอบพระเครื่องและบัญชีลูกหนี้ให้จำเลย เป็นการมอบหมายเป็นส่วนตัวระหว่างกันเองเท่านั้น
พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากนายอำเภอให้มีหน้าที่จำหน่ายหรือรักษาเงินจำหน่ายพระเครื่องนี้ตามฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เจ้าพนักงานกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยรูปคดีแล้ว
โจทก์ฎีกข้อต่อไปขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๐ ซึ่งเป็นเอกสารราชการ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจำหน่ายพระเครื่องดังได้วินิจฉัยแล้ว ทั้งไม่มีระเบียบว่าเมื่อรับเงินค่าจำหน่ายพระเครื่องแลวจะต้องออกใบเสร็จรับเงินด้วย ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินจึงไม่ใช่เอกสารราชการ แต่เป็นเอกสารที่จำเลยทำไว้เป็นส่วนตัวเพื่อแสดงทางได้เงินจากการจำหน่ายพระเครื่องซึ่งจำเลยได้ออกใบเสร็จรับเงินให้นายบุญมา จันทศิริ เพียงรายเดียวซึ่งจะได้วินิจฉัยในตอนหลัง การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับต้นขั้วใบเสร็จรายอื่นจึงไม่เป็นการปลอมหนังสือ เพียงแต่จำเลยทำขึ้นไว้ไม่ตรงกับความจริงเท่านั้น การกระทำของจำเลยเช่นนี้จะอาจเสียหายแก่ผู้ใดก็ตามก็ไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ ส่วนรายนายบุญมาซึ่งได้ชำระค่าจำหน่ายพระเครื่องให้จำเลย ๑๓๐ บาทจำเลยออกใบเสร็จให้ ๑๓๐ บาท ต่อมาปรากฎว่าจำเลยได้แก้ต้นขั้วใบเสร็จจาก ๑๓๐ บาท เหลือ ๑๒๐ บาท การกระทำของจำเลยนี้เป็นการแก้ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเพื่อแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายบุญมาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมีผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า บันทึกการรับมอบพระเครื่องตามเอกสารหมาย จ.๑๓ ซึ่งจำเลยปลอมโดยแก้ไขจำนวนพระเครื่องเป็นเอกสารราชการ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นเอกสารราชการนั้น จะต้องเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๘) ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฎว่า เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกที่จำเลยเขียนขึ้นไว้ทั้งฉบับและจำเลยทำขึ้นไว้เป็นส่วนตัว จำเลยมิได้มีหน้าที่ราชการในการนั้นดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ฉะนั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารราชการ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยคงมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ ชอบแล้ว
จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดฐานปลอมต้นขั้วใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๐ รายนายบุญมา จันทศิริ ตามประมวลกฎหมายอาญา ๒๖๔ อีกกระทงหนึ่ง ปรากฎว่าการกระทำาของจำเลยนี้ต่อเนื่องกับการปลอมบันทึกการรับมอบพระเครื่องตามเอกสารหมาย จ.๑๓ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๔ แล้ว ศาลฎีกาอาศัยอำนาจตามมาตรา ๙๑ จึงไม่ลงโทษในความผิดกระทงนี้อีก นอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share