คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจเบิกถอนเงินของจำเลยจากธนาคาร โจทก์ได้เบิกเงินของจำเลยจากธนาคารมาใช้ต่อรองกับ ค. กรรมการของจำเลยให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้จำเลยเสียหายเพราะเงินขาดหายไปจากบัญชี ซึ่งหากไม่ได้เงินนั้นคืนมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังมีอยู่ต่อไป การที่ ค. ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ก็เพื่อให้ได้เงินดังกล่าวกลับคืนมา สัญญาดังกล่าวจึงเกิดจากการที่โจทก์นำเงินที่เบิกไปเก็บไว้มาข่มขู่โดยแท้ การข่มขู่จึงนับว่าร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยเป็นโมฆียะและนับเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,463,123.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2545 และชำระเงินจำนวน 607,694 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,333,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้และฟ้องแย้งให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีโจทก์และนายเท็ตซึโอะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และนายคัตซูโนริเป็นกรรมการ จำเลยจ้างโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริหารกิจการของจำเลยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2538 เป็นต้นมา วันที่ 12 เมษายน 2545 นายเท็ตซึโอะประธานกรรมการของบริษัทชิอิน่า ไซซาคูโช จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมดูแลกิจการของจำเลย เรียกโจทก์และนายคัตซูโนริเข้าร่วมประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น และมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2545 โดยให้นายคัตซูโนริเป็นกรรมการผู้จัดการแทน ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2545 โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 8,000,000 บาท แต่นายคัตซูโนริต่อรองเหลือเพียงจำนวน 4,333,000 บาท และผ่อนชำระเป็น 6 งวด โจทก์คืนเงินจำนวน 4,000,000 บาท ที่เบิกมาจากบัญชีเงินฝากของจำเลยแก่นายคัตซูโนริ ส่วนอีก 1,000,000 บาท เก็บไว้เป็นการชำระค่าชดเชยงวดแรก และคืนเช็คจำนวน 4 ฉบับ ที่โจทก์ลงชื่อและประทับตราของจำเลยไว้แล้วให้ด้วย วันที่ 23 เมษายน 2545 จำเลยโดยนายคัตซูโนริจดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลย ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2545 นายคัตซูโนริแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมาเป็นหลักฐานว่าถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำสัญญาชำระค่าชดเชย วันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และบอกล้างสัญญาชำระค่าชดเชยกับให้โจทก์คืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่จำเลย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า การที่โจทก์เบิกเงินจำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินของบริษัทจำเลยมาใช้ในการต่อรองกับนายคัตซูโนริให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชย เป็นการข่มขู่ถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยเป็นโมฆียะหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า นายคัตซูโนริกรรมการจำเลยยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยเพราะกลัวว่าจะต้องสูญเงินจำนวนดังกล่าวไป แม้จำเลยจะมีสิทธิตามกฎหมายที่จะติดตามเอาเงินดังกล่าวคืน แต่ก็ไม่แน่นอนว่าจะมีผลให้โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ และต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด ทั้งฐานะการเงินของจำเลยได้รับผลกระทบจากการขาดเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้จ่ายด้วย ความกลัวจากการข่มขู่ดังกล่าวจึงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยดังกล่าวเป็นโมฆียะแล้ว เห็นว่า ในขณะที่โจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้โจทก์จะยังทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยและมีอำนาจเบิกถอนเงินจากธนาคารได้ แต่การเบิกถอนเงินดังกล่าวจะต้องเป็นการนำเงินมาใช้จ่ายในกิจการของจำเลย โจทก์หามีสิทธิเบิกถอนเงินมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ การที่โจทก์เบิกถอนเงินของจำเลยมาเพื่อใช้ต่อรองกับนายคัตซูโนริให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยให้โจทก์ จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์เอง การที่โจทก์เบิกถอนเงินมาโดยไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยนับแต่วันที่เงินของจำเลยถูกถอนไปจากบัญชีแล้ว เพราะทำให้เงินจำนวนที่เบิกถอนไปนั้นขาดหายไปจากบัญชี การที่โจทก์นำเงินที่เบิกถอนไปจากบัญชีดังกล่าวมาใช้ต่อรองกับนายคัตซูโนริ ซึ่งที่ประชุมลงมติให้เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยแทนโจทก์เพื่อให้ยอมทำสัญญากับโจทก์จึงเป็นการนำความเสียหายที่โจทก์ก่อให้เกิดขึ้นแก่จำเลยแล้วมาใช้ในการต่อรอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นได้ชัดว่าหากไม่ได้เงินที่โจทก์เบิกถอนไปแล้วกลับคืนมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยแล้วก็จะยังมีอยู่ต่อไป การที่นายคัตซูโนริยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ก็เพื่อให้ได้รับเงินดังกล่าวกลับคืนมา หาใช่นายคัตซูโนริมีความประสงค์มาแต่ต้นที่จะเจรจาในเรื่องค่าชดเชยกับโจทก์ไม่ การที่นายคัตซูโนริยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์จึงเกิดจากการที่โจทก์นำเงินที่เบิกไปเก็บไว้มาใช้ข่มขู่โดยแท้ หากโจทก์มิได้นำเงินดังกล่าวมาใช้ในการข่มขู่ สัญญาชำระค่าชดเชยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ การข่มขู่ของโจทก์จึงร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยดังกล่าวเป็นโมฆียะ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายด้วยหรือไม่ โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย แม้จะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานและมีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีของจำเลยได้ แต่ก็จะต้องเป็นการนำไปใช้จ่ายในกิจการของจำเลยโดยเฉพาะ ไม่มีอำนาจเบิกถอนมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยทำให้จำเลยเสียหายแล้ว กลับนำความเสียหายอันเกิดจากการเบิกถอนเงินดังกล่าวมาใช้ในการต่อรองให้นายคัตซูโนริยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยให้แก่โจทก์อันเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์โดยแท้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตปราศจากการเสแสร้ง หรือเจตนาที่จะให้บริษัทหรือเพื่อนพนักงานด้วยกันเสียหาย ซึ่งถือเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลยหรือไม่อีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายจากจำเลย ทั้งสัญญาชำระค่าชดเชยที่นายคัตซูโนริทำกับโจทก์ไว้เป็นโมฆียะและจำเลยบอกล้างแล้ว สัญญาชำระค่าชดเชยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยไม่ต้องชำระค่าชดเชยส่วนที่เหลือจำนวน 3,333,000 บาท ตามสัญญาให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ต้องคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 1,000,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไป และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสามที่อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2545 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share