แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีซื้อขาย จะนำมาอนุโลมใช้บังคับแก่กรณีเช่าซื้อไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าที่มีคำมั่นว่าจะขายเพิ่มเข้ามาด้วยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเหมือนสัญญาซื้อขาย
โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับจำเลยที่ 1 โดยทราบดีอยู่แล้วว่ารถเป็นของจำเลยที่ 3 และข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายรถคันนี้ก็ฟังไม่ได้ หากว่าได้มีบุคคลใดในห้างจำเลยที่ 1 อ้างต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 3มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายรถคันนี้ ก็เป็นการกล่าวอ้างเอาอย่างเลื่อนลอย และโจทก์ก็เชื่อถือด้วยความประมาทเลินเล่อ ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่าโจทก์เช่าซื้อมาโดยสุจริตและจะขอให้นำมาตรา 1332 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ๑ คันราคา ๓๓,๐๐๐ บาท รถนี้จอดไว้ในห้างจำเลยที่ ๑ เพื่อบอกขายซึ่งเป็นปกติธุระของจำเลย ในการทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์มอบให้ร้อยตำรวจเอกฉัตรเป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับเช่าซื้อ ฝ่ายจำเลยมอบให้นายอรรถ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงนามในฐานะเป็นตัวแทนให้เช่าซื้อ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของให้เช่าซื้อ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของรถคันพิพาทโดยทางทะเบียน แต่ได้มอบให้จำเลยที่ ๑, ๒ เป็นตัวแทนซื้อขายรถคันนี้ โจทก์ได้รับมอบรถและชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญากับในงวดต่อมาอีก ๒ งวด รวม ๓๓,๐๐๐ บาท เมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้ ขอให้บังคับจำเลยให้โอนทะเบียนรถยนต์ให้ภายใน ๗ วัน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัด
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันพิพาท นายเส็งได้เช่ารถคันนี้ไปจากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่เคยมอบหมายหรือเชิดให้จำเลยที่ ๑, ๒ เป็นตัวแทนขายรถคันพิพาท ไม่เคยมอบให้รับเงินแทน และสัญญาก็ไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง กับฟ้องแย้งกับโจทก์ส่งคืนรถแก่จำเลยที่ ๓ หรือใช้ราคา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยอ้างด้วยว่าเมื่อโจทก์ได้รับซื้อรถคันพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน แลได้รับมอบรถมาครอบครองแล้ว โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งคืนรถยนต์แก่จำเลยที่ ๓ หรือใช้ราคา
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๓ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า จะฟังว่าจำเลยที่ ๓ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายรถคันนี้ยังไม่ได้ หากว่าได้มีบุคคลใดในห้างจำเลยที่ ๑ อ้างต่อร้อยตำรวจเอกฉัตรว่าจำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายรถคันพิพาท ก็เป็นการกล่าวอ้างเอาอย่างเลื่อนลอย และร้อยตำรวจเอกฉัตรก็เชื่อถือด้วยความประมาทเลินเล่อ ที่โจทก์อ้างความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เห็นว่ามาตรานี้เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีซื้อขาย จะนำมาอนุโลมใช้บังคับเช่าซื้ออย่างคดีนี้หาได้ไม่ เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าที่มีคำมั่นว่าจะขายเพิ่มเข้ามาด้วยเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะเหมือนสัญญาซื้อขาย นอกจากนั้นเมื่อตามคำของร้อยตำรวจเอกฉัตรก็แสดงว่าฝ่ายโจทก์ทราบดีอยู่แล้วในวันทำสัญญาเช่าซื้อว่า รถคันพิพาทเป็นรถของจำเลยที่ ๓ มิใช่ของจำเลยที่ ๑, ๒ ประกอบกับข้ออ้างว่าที่จำเลยที่ ๓ มอบให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนขายรถคันนี้ ก็ฟังไม่ได้ แต่ฝ่ายโจทก์เชื่อถือเอาอย่างเลื่อนลอยดังได้วินิจฉัยแล้วนั้น โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ซื้อรถคันพิพาทมาโดยสุจริตไม่ได้อีกด้วย สรุปแล้ว โจทก์จะอ้างมาตรา ๑๓๓๒ นั้นมาสนับสนุนคดีโจทก์ไม่ได้
เมื่อวินิจฉัยข้ออื่นด้วยแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน