แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจการให้ทุเลาบังคับคดีตามประมวลวิธีพิจารณาอาญามาตรา 246 นั้น ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับได้ไม่ว่าก่อนหรือหลังจากที่ได้สั่งให้บังคับคดีไปแล้ว อำนาจศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้ตามประมาวลวิธีพิจารณาอาญา ม.246 หาได้ก้าวก่ายลบล้างกันกับอำนาจของอธิบดีราชทัณฑ์ 2479 นั้นไม่ โดยเป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน
ย่อยาว
ศาลออกหมายแจ้งโทษจำไถ่แทนเงินค่าปรับไปยังเรือนจำแล้ว ต่อมาระหว่างจำไถ่นั้นจำเลยร้องต่อศาลขอทุเลาการบังคับโดยเหตุว่าจำเลยมีครรภ์จะคลอดบุตร์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ทุเลาการบังคับ โดยส่งจำเลยไปอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๔๖ แห่งประมวลวิธีพิจารณา
อัยยการอุทธรณ์คำสั่งทุเบาการบังคับศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลมีอำนาจตามมาตรา ๒๔๖ ที่ให้ทุเลาการบังคับได้ไม่ว่าเป็นเวลาก่อนหรือหลังสั่งบังคับคดีไปแล้ว อำนาจศาลที่จะให้ทุเลาการบังคับนี้จำแนกประเภทอยู่ในวงจำกัด หาได้ก้าวก่อนลบล้างกับอำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่มีตาม ม.๒๙,๓๐ แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ๒๔๗๙ ไม่ จึงยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลวิธีพิจารณาอาญามาตรา ๒๔๖ มิได้มีบัญญัติว่าการทุเลาการบังคับตามมาตรานี้ต้องเป็นกรณีก่อนบังคับคดี เมื่อดูต่อไปในมาตรา ๒๔๘ จะเห็นได้ชัดว่า ศาลจะทุเลาการบังคับคดีก่อนหรือหลังบังคับคดีก็ได้ มาตรา ๒๙,๓๐ แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ๒๔๗๙ เป็นเรื่องให้อำนาจอธิบดีราชทัณฑ์เป็นคนละส่วนต่างหากจากที่บัญญัติไว้ในเรื่องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลในหมวด ๑ ภาค ๖ ของประมวลวิธีพิจารณาอาญา หาได้ก้าวก่ายลบล้างกันไม่ จึงพิพากษายืน