คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 396/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรค 3, 18 วรรค 2, 3 และ 5 จะเห็นระบบการดังนี้คือ ในชั้นตรวจคำฟ้องหรือคำคู่ความนั้น ศาลอาจจะกระทำได้เพียง 3 ประการ คือ สั่งรับ สั่งไม่รับ และสั่งคืนไป เท่านั้น เมื่อสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาแล้วก็จะพิพากษายกฟ้องไม่ได้
คำว่า “ให้ยกเสีย” ในมาตรา 172 กับคำว่า “มีคำสั่งไม่รับ” ในมาตรา 18 กฎหมายประสงค์ให้มีผลอย่างเดียวกัน เพราะคำว่า “ให้ยกเสีย” ตามมาตรา 172 จะถือว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131 ไม่ได้
ในคดีก่อน ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษารายเดียวสั่งในคำฟ้องว่า ไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้ ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ให้ยกฟ้องโจทก์ คำสั่งนี้เป็นคำสั่งเหมือนให้ยกเสียตามมาตรา 172 ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามความในมาตรา 18 เพราะไม่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131 ่เลย เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ในเรื่องเดียวกันอีก จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำฟืนส่งให้โรงงานจำเลย เป็นเงิน ๘๙,๑๘๗ บาท จำเลยขอผัดขำระราคาเรื่อยมา นายสุชาตกับพวกตัวแทนของจำเลยได้ร่วมกับนางทับทิมใส่ชื่อนางทับทิมในใบรับฟืนและลงราคาต่ำกว่าที่ตกลงไว้เพื่อฉ้อโกงโจทก์ ๆ จึงฟ้องบุคคลเหล่านี้ ว่าฉ้อโกงเป็นคดีอาญา ต่อมาได้ประนีประนอมยอมชำระเงินให้โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ขอถอนฟ้องคดีนั้น คือ คดีอาญาแดงที่ ๑๙๗๕/๒๕๐๐ ส่วนจำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ ว่าโจทก์ขายฟืนให้นายสุชาติกับพวก ต่อมาโจทก์ฟ้องคนเหล่านั้นในคดีอาญาแดงที่ ๑๙๗๕/๒๕๐๐ แล้วได้ประนีประนอมกันโดยโจทก์ได้รับเงินค่าฟืนไปแล้ว ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าฟืนจากจำเลยตามคดีแพ่งแดงที่ ๒๓๓/๒๕๐๑ ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้วชี้ขาดว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยนี้ในคดีแพ่งแดงที่ ๒๓๓/๒๕๐๑ ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวมีคำสั่งว่า หนี้รายที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นหนี้รายเดียวกับหนี้ในคดีอาญาแดงที่ ๑๙๓๕/๒๕๐๐ ฯลฯ ไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะฟ้องอีกได้ ไม่รับฟ้องไว้พิจารณาให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนี้ น่าจะเห็นได้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ศาลจะพิพากษายกฟ้องอย่างไรได้ เมื่อพิเคราะห์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรค ๓ กับมาตรา ๑๘ วรรค ๒, ๓ และ ๕ แล้วจะเห็นได้ว่า ในชั้นตรวจคำฟ้องหรือคำคู่ความนั้น ศาลอาจทำได้เพียง ๓ ประการ คือ สั่งรับ สั่งไม่รับ และสั่งคืนไป เท่านั้น แม้คำว่า “ให้ยกเสีย” ในมาตรา ๑๗๒ ไม่ตรงกับคำว่า “มีคำสั่งไม่รับ” ในมาตรา ๑๘ แต่ความหมายของคำทั้งสองนี้สำหรับในชั้นก่อนสั่งรับฟ้อง กฎหมายประสงค์ให้มีผลอย่างเดียวกัน เพราะคำว่า “ให้ยกเสีย” ตามมาตรา ๑๗๒ จะถือว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามมาตรา ๑๓๑ ไม่ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งแดงที่ ๒๓๓/๒๕๐๑ จึงเป็นคำสั่งเสมือนว่าให้ยกเสียตามมาตรา ๑๗๒ ซึ่งมีผลเหมือนคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
(อ้างนัยฎีกาที่ ๗๒๔/๒๔๙๐)
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามกระบวนความ

Share