คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ย่อมหมายถึงการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ เมื่อที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองเป็นที่ดินไม่มีโฉนด หรือยังไม่เคยมีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องก็จะใช้สิทธิทางศาลเสนอคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ศาลแสดงว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นหาได้ไม่
กรณีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่าที่นามีใบไต่สวนเป็นกรรมสิทธิ์ ของผู้ร้องโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ได้ ศาลย่อมยกคำร้องขอของผู้ร้อง
แม้เจ้าของที่นาจะไปขอออกโฉนดที่นา แต่ตราบใดที่เจ้าของที่นายังไม่ได้ขอรับโฉนดมา ที่นานั้นก็ยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่นา ผู้ยึดถือที่นานั้นมีแต่สิทธิครอบครองเท่านั้น หากมีผู้ใดมาแย่งสิทธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ก็ให้ใช้อายุความ 1 ปี ไม่ใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 1382

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ร้อยตรีเปลี่ยนมีที่นา ๑ แปลง ได้ไปขอออกโฉนดเลขที่ ๔๑๐๓ ไว้แล้ว แต่ร้อยตรีเปลี่ยนไม่ไปขอรับโฉนด ต่อมาร้อยตรีเปลี่ยนให้นายอินบิดาผู้ร้องนำไปขายฝากไว้กับนายรื่นเป็นเงิน ๖๐๐ บาท ครั้น พ.ศ.๒๔๘๖ นายอินเอาเงินส่วนตัวไปไถ่นารายนี้เป็นของตนแล้วครอบครองทำประโยชน์เป็นเจ้าของตลอดมา โดยร้อยตรีเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวข้อง แม้โฉนด ก็ไม่มาขอรับปล่อยให้ขาดอายุแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๑ แล้ว ครั้นประมาณ ๑๔ ปีมานี้ นายอินบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรม ผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกรายนี้ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่นารายนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่าที่ดินรายนี้มีเพียงใบไต่สวน(ท.ด.๑๒) ส่วนโฉนดที่ ๔๑๐๓ ขาดอายุ ไม่มีผู้ใดรับ ถือว่าเป็นที่ดินไม่มีโฉนดและถือว่าไม่เคยออกโฉนดเลย เมื่อที่ดินนี้มีเพียงใบไต่สวนผู้ร้องไม่มีกฎหมายบทใดสนับสนุนให้ร้องต่อศาลเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ มิได้บัญญัติว่าที่ดินต้องมีโฉนดมาก่อน แม้ที่ดินมือเปล่า เมื่อบุคคลใดครอบครองโดยสงบและเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของ ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ อ้างฎีกาที่ ๘๐๑-๘๐๒/๒๕๐๖ สนับสนุน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อเมื่อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ หรือได้มาซึ่งโฉนดที่ดิน หรือได้มาตามกฎหมายอื่น และตามกฎหมายก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน คือ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.๑๒๗ ซึ่งมาตรา ๓๕ ให้เจ้าของที่ดินซึ่งได้ออกโฉนดตามพระราชบัญญัตินั้นมีกรรมสิทธิ์ ก็บัญญัติว่า โฉนดต้องออกให้แก่เจ้าของที่ดินตามมาตรา ๒๙ โดยเจ้าพนักงานซึ่งระบุในมาตรา ๓๐ ได้ลงนามประทับตราแล้ว เห็นได้ว่า ตราบใดที่ผู้ถือที่ดินหรือเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวโดยยังไม่มีผู้ใดขอรับโฉนดมา ที่ดินก็ยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ใด ผู้ยึดถือที่ดินมีแต่สิทธิครอบครองเท่านั้น โดยเฉพาะที่ดินในคดีนี้เป็นที่นา หากมีผู้ใดมาแย่งสิทธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ ก็ให้ใช้อายุความ ๑ ปี ไม่ใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๓๘๒นอกจากนี้ การขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินซึ่งได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๘ ก็บัญญัติไว้เฉพาะสำหรับกรณีที่ดินที่มีโฉนดที่ดินแล้ว จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ย่อมหมายความถึงการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ เมื่อที่ดินที่ผู้ร้องครอบครอบนี้ไม่มีโฉนด หรือยังไม่เคยมีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ ก็ไม่มีกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาล เสนอคดีไม่มีข้อพิพาทดังที่ผู้ร้องขอมา เพราะไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ได้ ฎีกาที่ ๘๐๑-๘๐๒/๒๕๐๖ ที่ผู้ร้องอ้างนั้น เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าพนักงานยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ เพราะเป็นแต่ขอผัดหารือไปยังผู้บังคับบัญชาก่อน จึงยังไม่มีข้อพิพาทที่โจทก์จะฟ้องจำเลย ส่วนที่เกี่ยวกับกรณีจะร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้หรือไม่นั้น ไม่มีข้อโต้เถึยงกันให้เป็นประเด็นโดยตรง จึงไม่เป็นบรรทัดฐานได้ ฎีกาที่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยตรง คือ ฎีกาที่ ๙๙๕/๒๔๙๗ ซึ่งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์อ้างมาถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share