คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 494, 492 บัญญัติเป็นใจความว่า ท่านห้ามไม่ให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี หรือเมื่อพ้นกำหนดที่กำหนดไว้ในสัญญา ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลยมีกำหนด 2 ปี ตามนัยของกฎหมายดังกล่าว เป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามโจทก์ใช้สิทธิไถ่ก่อน 2 ปี ดังนี้ ภายในกำหนด 2 ปี โจทก์จะใช้สิทธิไถ่เมื่อใดก็ได้ เมื่อจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ก็ต้องถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ขอไถ่ที่ดินคืนได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขายฝากที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๐ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลยเป็นราคา ๘,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๒ ปี ครั้นขายฝากได้ ๒ ปี ๘ เดือน ๗ วัน โจทก์ไปขอไถ่จากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โจทก์ไถ่ที่ดินที่ขายฝากพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำเลยรับเงิน ๘,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ขายฝากที่ดินตามฟ้องจริง แต่เวลานี้ยังไม่ถึงกำหนดไถ่ จำเลยจึงไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ ใบมอบอำนาจให้ฟ้องไม่ชอบ
วันนัดชี้สองสถาน ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาเฉพาะข้อโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ วินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากมีกำหนด ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ โจทก์มาฟ้องจำเลยก่อนกำหนด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นที่ว่าใบมอบอำนาจชอบหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์
วินิจฉัยว่า กฎหมายมิได้ห้ามไถ่คืนก่อนกำหนด เงื่อนเวลา ๒ ปี ที่กำหนดไว้ในสัญญาก็เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ย่อมสละเงื่อนเวลานี้เสียได้ ไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์ของจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔ โจทก์ผู้ขายฝากมีสิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากจากจำเลยได้ เมื่อโจทก์ขอไถ่ จำเลยปฏิเสธ ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นว่า สัญญาขายฝากที่โจทก์ขายฝากไว้กับจำเลยมีกำหนด ๒ ปีนั้น โจทก์ขอไถ่คืนก่อนกำหนด ๒ ปีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๔, ๔๙๒ บัญญัติเป็นใจความว่า ท่านห้ามไม่ให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์เมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี หรือเมื่อพ้นกำหนดที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาขายฝากทรัพย์สินรายพิพาทนี้มีกำหนด ๒ ปี ตามกฎหมายที่กล่าว จึงห้ามไม่ให้ใช้สิทธิไถ่ เมื่อพ้นกำหนด ๒ ปี ตามนัยของกฎหมายที่กล่าวนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามโจทก์ใช้สิทธิไถ่ก่อน ๒ ปีเลย ดังนั้น ภายในกำหนด ๒ ปี โจทก์จะใช้สิทธิไถ่เมื่อใดก็ได้ เมื่อจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าโจทก์ไถ่ได้ก่อนกำหนดจำเลยก็เสียหาย เพราะได้จัดการหาผลประโยชน์ในทรัพย์ที่ขายฝากอยู่นั้น เห็นว่า การรับซื้อฝากนั้น ผู้รับซื้อฝากมีสิทธิหาผลประโยชน์ในทรัพย์ที่รับซื้อฝากได้ก่อนไถ่คืนเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิที่จะอ้างเอาประโยชน์หลังจากไถ่คืน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ใบมอบอำนาจฟ้องคดีของโจทก์นั้นได้มอบกันจริงหรือไม่ ข้อนี้จำต้องพิจารณาต่อไปศาลฎีกาจึงเป็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ย้อนสำนวนไปพิพากษาใหม่ในข้อนี้ พิพากษายืน

Share