คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2859/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าเช่าทรัพย์สินที่จะใช้เป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีนั้น ถ้ามีเหตุบ่งให้เห็นว่าค่าเช่ามิใช่จำนวนเงินอันสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจแก้ไขหรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 ส่วนที่มาตรา 18 บัญญัติให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาหมายถึงในปีที่จะต้องเสียภาษีนั้นไม่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าของปีที่ล่วงมาแล้วมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ เมื่อปรากฏว่าค่าเช่าของปีที่ล่วงมาแล้วมิใช่จำนวนเงินอันสมควร จึงไม่ต้องนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณภาษีในปีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณค่ารายปีขึ้นใหม่โดยเทียบเคียงกับโรงเรือนที่อยู่ในย่าน ใกล้เคียงกันและบนถนนเดียวกัน เมื่อโจทก์มิได้นำสืบหักล้างว่าไม่ถูกต้อง ทั้งผู้รับมอบ อำนาจโจทก์ก็ยอมรับว่าสมควรให้เช่าได้ปีละสูงกว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้คำนวณไว้ จึงต้องถือว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินใหม่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2532 ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อให้กำหนดค่ารายปีและประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนประจำปี 2532คือโรงเรือนที่เป็นอาคารรวม 59 รายการ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 39/3 หมู่ 5 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2532 สำหรับโรงเรือนของโจทก์ โดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงิน960,000 บาท และให้โจทก์นำเงินค่าภาษีจำนวน 120,000 บาท ไปชำระโจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และโจทก์นำเงินค่าภาษีจำนวน 120,000 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยที่ 2ซึ่งยืนตามการประเมินของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เพราะเป็นการประเมินภาษีที่เพิ่มขึ้นจากปี 2531 ถึงร้อยละ 126.24 จึงไม่ถูกต้องไม่ได้ใช้ฐานภาษีของปีก่อน ๆ นำมาเปรียบเทียบเป็นฐานในการคำนวณคิดภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โจทก์เห็นว่าค่ารายปีที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณเรียกเก็บภาษีโรงเรือน ควรเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะค่าครองชีพและภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปรากฏว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2532 เพิ่มขึ้นจากปี 2531 ในอัตราร้อยละ 4 เท่านั้น จึงขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนที่เรียกเก็บเกินไปให้แก่โจทก์จำนวน64,880 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในการเสียภาษีโรงเรือนของโจทก์ประจำปี 2531 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้กำหนดค่ารายปีและเรียกเก็บภาษี เพราะขณะนั้นยังอยู่ในอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้กำหนดค่ารายปีและเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนซึ่งต่ำมากมิได้เป็นค่ารายปีที่กำหนดจากค่าเช่าอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ค่ารายปีเพื่อประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2531 จึงมิใช่ค่ารายปีอันแท้จริงและไม่อาจนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาการกำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2532 ได้ การเพิ่มค่ารายปีในอัตราร้อยละ 4 ตามที่โจทก์อ้างต่ำกว่าความเป็นจริงมาก มิใช่ค่ารายปีซึ่งกำหนดจากค่าเช่าอันสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้กำหนดค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนและที่ดินรายอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและประกอบกิจการคล้ายคลึงกัน ซึ่งได้กำหนดค่ารายปีไว้สูงกว่าของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกมีว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจคำนวณค่ารายปีขึ้นใหม่เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การชำระค่าภาษีโรงเรือนนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สินและค่ารายปีให้หมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่งเท่าใด ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ ส่วนที่มาตรา 18 บัญญัติให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมานั้นหมายถึงในปีที่จะต้องเสียภาษีนี้ไม่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่า และโรงเรือนนั้นมีค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว จึงให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีในปีต่อมาโดยการเพิ่มหรือลดตามภาวะค่าครองชีพด้วย ในคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ใช้อำนาจกำหนดค่ารายปีขึ้นใหม่ปัญหาจึงมีว่า คดีมีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยนำสืบให้เห็นได้ว่า ในการกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนี้ได้เทียบเคียงกับโรงเรือนอื่นที่อยู่ในย่าน ใกล้เคียงกันและบนถนนเดียวกัน ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบหักล้างค่ารายปีของโรงเรือนรายอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างทั้งนายวินัย วัฒนศรานนท์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้เป็นพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่าเฉพาะที่ดินที่พิพาทนี้อาจให้เช่าได้เดือนละ 100,000 บาท หากให้เช่ารวมโรงเรือนและเครื่องจักรด้วยก็จะต้องได้ค่าเช่าสูงขึ้นกว่านั้นเฉพาะที่ดินที่พิพาทอย่างเดียวผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ยอมรับแล้วว่าสมควรให้เช่าได้ปีละ 1,200,000 บาท สูงกว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดไว้ในปีพิพาทนี้ ซึ่งรวมทั้งโรงเรือนและเครื่องจักรถึง 59 รายการ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกำหนดค่ารายปีจะต้องนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีโดยเพิ่มอีกร้อยละ 4 ตามภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้น เห็นว่า เมื่อในปีที่จะต้องเสียภาษีนี้มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ดังวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่ต้องนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีในปีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้ไขหรือคำนวณค่ารายปีใหม่ได้ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสอง โดยเทียบเคียงจากโรงเรือนและที่ดินรายอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอยู่ในทำเลเดียวกันดังกล่าวข้างต้นได้ การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีของโรงเรือนและที่ดินพิพาทของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share