คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คครั้งแรกสั่งจ่ายเมื่อครบ 10 เดือน ครั้นถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินเพราะจำเลยไม่มีเงินในบัญชี ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลยฐานออกเช็คไม่มีเงิน แต่มีคนไกล่เกลี่ย ผู้เสียหายจึงให้จำเลยผัดไปอีก 6 เดือน โดยจำเลยออกเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหาย ครั้นถึงกำหนดขึ้นเงินเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหาย ครั้นถึงกำหนดขึ้นเงินเช็คฉบับใหม่ธนาคารก็ปฏิเสธไม่จ่ายเงินอีกเพราะจำเลยไม่มีเงินในธนาคาร ผู้เสียหายจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็ค ในคดีแพ่ง คู่ความทำยอมกันโดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ภายใน 15 วัน ในวันเดียววันนั้นเอง ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เช่นนี้ อัยการโจทก์จะมาฟ้องจำเลย ในกรณีเดียวกันนี้เป็นคดีอาญาฐานออกเช็คไม่มีเงินตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ อีกหาได้ไม่ เพราะคดีนี้เกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา แต่ก็ปรากฏว่า ผู้เสียหายเคยร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ตกลงให้จำเลยออกเช็คให้ใหม่ ครั้นไม่ได้รับชำระอีก ผู้เสียหายก็ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ไม่ได้ดำเนินทางอาญา ต่อมาได้
ตกลงประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยชำระเงินภายใน 15 วัน นับจากวันทำยอมในคดีแพ่ง แม้ในสัญญายอมตามที่ผู้เสียหายและจำเลยกระทำกันในคดีแพ่งนี้จะไม่ได้พูดถึงทางอาญาเลย แต่ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ปฏิบัติต่อกันมาดังกล่าว ย่อมมุ่งหมายจะให้ระงับคดีในทางอาญาด้วย ฉะนั้น แม้ผู้เสียจะไปร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเช็ครายนี้ แก่จำเลยอีกก็ตาม แต่เมื่อกรณีออกเช็คไม่มีเงินนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว การที่ผู้เสียหายกับจำเลยได้ประนีประนอมยอมความกันในกรณีนี้ จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญารายนี้มาฟ้องจึงระงับไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2503)

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมจำเลยออกเช็คเงิน ๖๔,๐๐๐ บาทให้ผู้เสียหาย ๑ ฉบับ กำหนดยื่นเช็คต่อธนาคารขอรับเงินใน ๑๐ เดือน ครั้นถึงกำหนดผู้เสียหายเอาเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารไม่จ่ายเงินผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลย นายย่งตุ้นมาเจรจาขอให้ผู้เสียหายประนีประนอม ผู้เสียหายให้โอกาศจำเลยผัดไป ๖ เดือน โดยจำเลยออกเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหาย แต่ถึงกำหนดเช็คฉบับใหม่นี้ก็ขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้อีก เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินในธนาคาร ผู้เสียหายจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เรียกเงินตามเช็ค ในคดีแพ่ง คู่กรณีได้ประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันทำยอม แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ผู้เสียหายก็ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและแล้วอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในเรื่องนี้ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานออกเช็คไม่มีเงินตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ ม. ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง ให้ปรับ ๒ เท่าราคาเงินที่ระบุในเช็คเป็นเงิน ๑๒๘,๐๐๐ บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยได้ประนีประนอมยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา ๓๔ (๒) ได้บัญญัติว่า ในคดีความผิดต่อส่วนตัว ถ้าได้มีการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้ เกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา แต่ก็ปรากฏว่า ผู้เสียหายเคยร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ตกลงให้จำเลยออกเช็คให้ใหม่ ครั้นไม่ได้รับชำระอีก ผู้เสียหายก็ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ไม่ได้ดำเนินทางอาญา ต่อมาได้ ตกลงประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยชำระเงินภายใน ๑๕ วัน นับจากวันทำยอมในคดีแพ่ง ดังกล่าวเสียแล้ว แม้ในสัญญายอมตามที่ผู้เสียหายและจำเลยกระทำกันในคดีแพ่งนี้จะไม่ได้พูดถึงทางอาญาเลย แต่ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ปฏิบัติต่อกันมาดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่า มุ่งหมายจะให้ระงับคดีในทางอาญาด้วย ฉะนั้น แม้ผู้เสียจะไปร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเช็ครายนี้ แก่จำเลยอีกก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ ม.๔ ก็ได้บัญญัติว่า เป็นความผิดต่อส่วนตัว การที่ผู้เสียหายกับจำเลยได้ประนีประนอมยอมความกันในกรณีนี้
จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญารายนี้มาฟ้องจึงระงับไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕/๒๕๐๓)

Share