คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

นับแต่วันเกิดเหตุชิงทรัพย์ถึงวันที่จำเลยถูกจับเป็นระยะเวลาห่างกันร่วม 8 ปี ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าคนร้ายมาก่อนเพิ่งเห็นในวันเกิดเหตุเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะจำคนร้ายได้ และผู้เสียหายก็เบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่อง กับรอย ยิ่งกว่านั้นผู้เสียหายยังเบิกความแตกต่างกับพยานอื่นเป็นข้อพิรุธ จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 คืนของกลางแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 16,000 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรค 4ลงโทษจำคุก 18 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาทแก่ผู้เสียหายของกลางคืนผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายชิงทรัพย์ตามฟ้องของผู้เสียหายไปในการชิงทรัพย์คนร้ายได้ใช้ค้อนตีศรีษะผู้เสียหาย จนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส คดีมีปัญหาว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงคนเดียวเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกาผู้เสียหายนั่งอยู่ที่บ้าน จำเลยมาถามถึงบ้านนายดาว แดงเจริญผู้ใหญ่บ้าน ผู้เสียหายชี้มือให้จำเลยดูบ้านผู้ใหญ่บ้านห่างไปประมาณ 40 วา จำเลยชวนผู้เสียหายนั่งคุยประมาณ 30 นาที ระหว่างคุยกันจำเลยลุกขึ้นเตะผู้เสียหาย 1 ที ผลักผู้เสียหายล้มลงและใช้ค้อนตีศีรษะผู้เสียหายจนหมดสติ นายคำรณและนายน้องนำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาล เมื่อผู้เสียหายรู้สึกตัวจึงทราบว่าทรัพย์สินตามฟ้องหายไป ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 7 วัน แล้วกลับมารักษาที่บ้านอีกประมาณ 1 ปี จึงหายเป็นปกติ หลังเกิดเหตุประมาณ 1 ปีนายดาวผู้ใหญ่บ้านมาเล่าให้ผู้เสียหายฟังว่า สงสัยคนร้ายจะชื่อนายชวน (จำเลย) ทำงานอยู่ที่โรงงานเสถียรภาพผู้เสียหายพาเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามจับจำเลย แต่ไม่พบตัวจำเลย เมื่อวันที่31 มกราคม 2533 ผู้เสียหายพบจำเลยเดินอยู่หน้าธนาคารแห่งหนึ่งจึงพานายดาบตำรวจนรสิงห์ไปจับจำเลยมาดำเนินคดี ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุคดีนี้เกิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2525 จำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2533 นับตั้งแต่วันเกิดเหตุถึงวันที่จำเลยถูกจับเป็นระยะเวลาห่างกันร่วม 8 ปี ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าคนร้ายมาก่อน เพิ่งจะเห็นคนร้ายในวันเกิดเหตุเท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะจำคนร้ายได้ตามที่เบิกความ นอกจากนี้ผู้เสียหายก็เบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องกับรอย โดยในการตอบคำถามโจทก์ ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายพบจำเลยเดินอยู่หน้าธนาคารแห่งหนึ่ง จึงพานายดาบตำรวจนรสิงห์ไปจับจำเลย แต่ในการตอบคำถามค้านทนายจำเลย ผู้เสียหายกลับเบิกความว่า ตอนเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยนั้นผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย และในการตอบคำถามติงของโจทก์ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าความจริงเจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยที่หน้าธนาคาร แต่บอกให้ผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายเป็นคนไปพบจำเลยที่หน้าธนาคาร ยิ่งกว่านั้น ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า นายดาวผู้ใหญ่บ้านมาเล่าให้ผู้เสียหายฟังว่าสงสัยคนร้ายจะชื่อนายชวน (จำเลย) ทำงานเป็นคนงานอยู่ที่โรงงานเสถียรภาพผู้เสียหายจึงพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลย แต่ไม่พบตัวจำเลยนั้นนายดาวกลับเบิกความว่า ตนไม่เคยสืบหาคนร้าย เนื่องจากไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใครจึงแตกต่างกันเป็นพิรุธ จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมาพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share