คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 – 2 – 3 – 4 ฐานพยายามปล้นและลงโทษจำเลยที่ 2 – 3 ฐานมีปืนไม่รับอนุญาต เฉพาะในข้อหาฐานมีปืนไม่รับอนุญาต ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์จำเลยที่ 4 อุทธรณ์เฉพาะในข้อฐานพยายามปล้นทรัพย์ เช่นนี้ แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะมีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 9 ผ่อนผัน ไม่เอาโทษแต่ผู้ที่นำอาวุธปืนที่มีอยู่ไปจดทะเบียนขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 90 วันก็ตาม ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องจำเลยที่ 2 – 3 ในข้อหาฐานมีปืนไม่รับอนุญาต โดยอ้างว่าเป็นเหตุในลักษณะคดีหาได้ไม่ เพราะการที่จำเลยที่ 2 – 3 มีอาวุธปืนนั้น จะมีโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 – 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่สมคบกับพยายามปล้นทรัพย์และจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๔๐, ๘๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ กับขอให้สั่งริบปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้ง ๔ รับสารฐานปล้น จำเลยที่ ๒ – ๓ รับสารภาพ ในข้อหามีปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๓ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ จำคุก คนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๒ – ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ จำคุกจำเลยที่ ๒ – ๓ ในฐานนี้อีกคนละ ๖ เดือน ของกลางริบ
จำเลยที่ ๔ ผู้เดียวอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยร่วมกระทำผิด แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ควรยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในข้อหาฐานพยายามปล้นทรัพย์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น แต่ข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาวางโทษจำเลยที่ ๒ – ๓ ฐานมีปืน ๗, ๗๒ ด้วย นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ – ๓ มีปืนของกลางไว้นั้น ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๙ ผ่อนผันไม่เอาโทษแก่ผู้ที่นำอาวุธปืนที่มีอยู่ไปจดทะเบียนขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๙๐ วัน การที่อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของจำเลยที่ ๒ – ๓ จึงไม่ต้องรับโทษ แม้จำเลยที่ ๒ – ๓ จะมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี และคดีนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะในข้อที่ลงโทษจำเลยที่ ๒ – ๓ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตนั้นเสีย ปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่ริบ
่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ – ๓ ตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คงมีแต่จำเลยที่ ๔ ซึ่งต้องหาปล้นทรัพย์ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อ้างว่า เป็นเหตุในลักษณะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยเพราะการที่จำเลยที่ ๒ – ๓ มีอาวุธปืนนั้น จะมีโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ – ๓ได้ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ – ๓ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share