แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง โจทก์ต่อสู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของจำเลยทั้งนั้นไม่ใช่ของผู้ร้อง ที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ก็เพื่ออุบายฉ้อโกงไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น ดังนี้ ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าอย่างน้อยก็เป็นการสมยอมกัน เป็นการฉ้อฉล การที่ศาลยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ใช่นอกฟ้องนอกประเด็น
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2505)
เรื่องการฉ้อฉลนี้ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยในชั้นร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวแล้ว และเมื่อฟังว่าการโอนทรัพย์ระหว่างจำเลย (สามี) กับผู้ร้อง (ภรรยา) เป็นการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ก็มีอำนาจที่จะพิพากษาว่าโจทก์นำยึดทรัพย์รายนี้ได้ ผู้ร้องไม่ชอบที่จะมาร้องขัดทรัพย์ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ร้องจะโต้แย้งว่าเป็นเรื่องของโจทก์ที่จะขอแบ่งแยกสินบริคณห์แล้วนำยึดเฉพาะส่วนของจำเลย ดังนี้ย่อมฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
จำเลยแพ้คดีโจทก์ ๆ นำยึดทรัพย์อ้างว่าเป็นของจำเลย ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียว
โจทก์ต่อสู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้อง ที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ก็เพื่ออุบายฉ้อโกงไม่ชำระหนี้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นฟังว่า ทรัพย์นั้นเป็นของผู้ร้อง พิพากษาให้ถอนการยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า เดิมจำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน ต่อมาได้จดทะเบียนหย่ากันที่อำเภอ โดยจำเลยยอมยกทรัพย์ที่มีขึ้นระหว่างเป็นสามีภริยากันให้ผู้ร้องทั้งสิ้น แต่การยกให้นี้จำเลยได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ทรัพย์ที่ถูกยึดนี้ฟังได้ว่าเป็นสินบริคณห์ระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ซึ่งจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย โจทก์ย่อมนำยึดได้ ผู้ร้องไม่ชอบที่จะมาร้องขัดทรัพย์ พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ยกมาตรา ๒๓๗ ขึ้นวินิจฉัยคดีนอกประเด็นนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในชั้นบังคับคดี เมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์รายพิพาทอ้างว่าเป็นของจำเลย ฝ่ายผู้ร้องคัดค้านว่าเป็นของผู้ร้อง โจทก์ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยทั้งนั้นไม่ใช่ของผู้ร้อง ที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ก็เพื่ออุบายฉ้อโกงไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น ซึ่งทั้งนี้ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า อย่างน้อยก็เป็นการสมยอมกันเป็นการฉ้อฉล กรณีไม่ใช่นอกฟ้องนอกประเด็น และศษลย่อมมีอำนาจยกเรื่องการฉ้อฉลขึ้นวินิจฉัยในชั้นนี้ได้ตามฎีกาที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๕๒/๒๕๐๓ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการโอนทรัพย์ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗ โจทก์นำยึดทรัพย์รายนี้ได้ ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ นั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาโต้เถียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องชอบที่จะมาร้องขอกันส่วนได้ของตนออกนั้น ผู้ร้องเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องของโจทก์ที่จะขอแบ่งแยกสินบริคณห์แล้วนำยึดเฉพาะส่วนของจำเลยนั้น ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน