คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล.เป็นบิดา ฉ. เป็นมารดาของ ภ.พ.และ อ. เมื่อ ล.ตายศึกพิพาทตกเป็นมรดกแก่ ฉ.ภ.พ. และ อ. ผลที่สุดเมื่อ ฉ. ตายอีกก็ตกเป็นมรดกแก่ ภ.พ. และอ. พ. และอ. มอบให้ ภ. เป็นผู้จัดการ ภ. มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้จัดการแทนอีกทอดหนึ่ง หนังสือมอบอำนาจจะเขียนว่าตึกพิพาทเป็นมรดกของ ล. หรือ ฉ. ก็หามีความหมายผิดกันไม่ และการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มอบอำนาจทั่วไปแก่ ส.นี้ก็ไม่ใช่เรื่องผู้จัดการมรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1715 และ 1358 ไม่ตรงกับรูปคดีนี้
เมื่อทำสัญญาเช่าก็เชียนชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ว่าเป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อนำสืบก็รับว่ามีคนภายนอกถือหุ้นอยู่ด้วยไม่เกินร้อยละสิบ ที่ตั้งทำการของจำเลยที่ 2 ก็คือตึกรายพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าไป เป็นเหตุผลเพียงพอให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องเรียกบริษัทเป็นจำเลยที่ 2 โดยบรรยายด้วยว่าเป็นนิติบุคคล คำขอให้ขับไล่จำเลยย่อมหมายถึงจำเลยทั้งสอง
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกรายพิพาทในขณะที่ฟ้องขับไล่ ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดถึงความเป็นมาแห่งตึกนี้
คำฟ้องระบุชื่อจำเลยทั้งสองไว้ในตอนต้นแล้ว ตอนต่อๆ ไปแม้จะใช้คำว่าจำเลยก็มีความหมายว่าจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตึกรายพิพาทเป็นของพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรและพระองค์เจ้าอนุสร-มงคลการ ซึ่งมอบอำนาจให้พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลจัดการผลประโยชน์ มีสิทธิฟ้องร้องและตั้งตัวแทน พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมอบอำนาจให้นายสง่า ณ ระนอง ดูแลจัดการผลประโยชน์และมีอำนาจฟ้องคดีได้ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ได้เช่าตึกของโจทก์เพื่อประกอบการค้า ๓ ปี ครบกำหนดแล้วโจทก์บอกเลิกการเช่าจำเลยเพิกเฉยเสียทำให้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน และให้จำเลยออกจากตึกนี้
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ เช่าเพื่ออาศัยอยู่เองส่วนหนึ่งนอกนั้นให้เช่าช่วง และมีข้อตกลงว่าผู้ให้เช่ายอมให้เช่าช่วงบางส่วนได้จำเลยที่ ๑ และผู้เช่าช่วงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยเช่าตึกพิพาทแทนจำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ ๑ การอยู่ไม่เป็นละเมิด คงเรียกได้แต่ค่าเช่าซึ่งสูงมากแล้ว หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องจะถูกต้องหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทในฐานตัวแทนจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มิใช่คู่สัญญากับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ โจทก์เป็นเจ้าของตึกพิพาทหรือไม่ เอกสารท้ายฟ้องถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่รับรอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่ทราบว่าตึกพิพาทเป็นของผู้ใดแน่ คำบรรยายฟ้องใช้คำว่า จำเลย ก็ไม่ขัดว่าทั้ง ๒ คนหรือคนใด จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็น ๗ ข้อ พิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหาย ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกพิพาทกับให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยติดใจฎีกาเพียง ๕ ประเด็น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อแรกที่จำเลยค้านว่าหนังสือมอบอำนาจหมายเลข ๑ ระบุว่าพระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ และพระองค์เจ้าอนุสรฯ ผู้มีส่วนรับพระมรดกของสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ ร่วมกับพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ได้ตกลงมอบพระมรดกรายนี้ให้พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ เป็นผู้จัดการ ฯลฯ จำเลยถือว่ามิใช่ให้มีอำนาจในพระมรดกพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ ส่วนหนังสือมอบอำนาจหมายเลข ๒ ระบุว่า พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ได้แต่งตั้งนายสง่า ณ ระนอง มีอำนาจทำการแทน ก็อ้างถึงทรัพย์สินกองมรดกสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ นายสง่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และควรฟังว่ามรดกของพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ มีผู้จัดการมรดก ๓ คน คือ พระโอรสทั้งสามที่กล่าวนั้น ซึ่งจะต้องร่วมกันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๕ หรือเห็นชอบด้วยตามมาตรา ๑๓๕๘ นั้น เห็นว่า สมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ กับพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมพลฯ และพระองค์เจ้าอนุสรฯ หนังสือมอบอำนาจจะเขียนพระนามพระชนกหรือพระขนนีก็หามีความหมายผิดกันไม่เพราะผลที่สุดตึกพิพาทนี้ได้ตกเป็นมรดกแก่พระโอรสทั้งสามนี้ และเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มอบอำนาจทั่งไปแก่นายสง่าซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งต้นฉบับหนังสือนี้
และคดีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้จัดการมรดก แต่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ๒ มาตราที่จำเลยอ้างนั้น ไม่ตรงกับรูปคดีนี้
ประเด็นข้อ ๒ เป็นเรื่องของจำเลยที่ ๒ ว่าได้ถูกฟ้องเป็นคู่ความด้วยหรือไม่ นั้น เมื่อทำสัญญาเช่าก็เขียนชื่อจำเลยที่ ๑ ไว้ว่าเป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ ๒ และเมื่อนำสืบก็รับว่ามีคนภายนอกถือหุ้นอยู่ด้วยไม่เกินร้อยละสิบ ที่ตั้งทำการของจำเลยที่ ๒ ก็คือ ตึกรายพิพาทซึ่งจำเลยที่ ๑ เช่าไป เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้โจทก์ถือว่าควรจะฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วยได้ โจทก์จึงได้ระบุขัดในคำฟ้องเรียกบริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางูเป็นจำเลยที่ ๒ โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าเป็นนิติบุคคล ดังนี้ คำขอให้ขับไล่จำเลยย่อมหมายถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ ๒ ได้อยู่ในตึกพิพาทโดยไม่มีข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบต่อสู้ ศาลจึงพิพากษาขับไล่จำเลย
ประเด็นข้อ ๓ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทในขณะฟ้องความ ไม่จำต้องบรรยายโดยละเอียดถึงความเป็นมาแห่งทรัพย์มรดกรายนี้และคำฟ้องก็ระบุชื่อจำเลยทั้งสองไว้ในตอนต้นแล้ว ตอนต่อๆ ไป แม้ใช้คำว่าจำเลยก็เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นผู้เช่าร่วมกันอยู่ จำเลยไม่หลงต่อสู้
ประเด็นข้อ ๔ ข้อที่ว่า สำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องไม่ตรงกับต้นฉบับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามสัญญาเช่าที่ส่งอ้างต่อศาล นั้น คู่ความได้รับกันแล้วว่าต้นฉบับที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลถูกต้องตรงกับคู่ฉบับซึ่งอยู่ที่จำเลยที่ ๑ แม้โจทก์คัดสำเนาติดท้ายฟ้องจะพลั้งเผลอตกหล่นไปบ้างก็ไม่ขาดข้อความสำคัญ อันเป็นพยานหลักฐานได้
ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องการบอกล่าวเลิกการเช่า ฟังได้แล้วว่าโจทก์ส่งคำบอกกล่าวแก่จำเลยแล้ว
พิพากษายืน

Share