คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าราชการขีดฆ่าข้อความที่พนักงานเจ้าหน้าที่เขียนและหมายเหตุไว้ตามหน้าที่ในสมุดลงเวลามาทำงานแล้วตกเติมข้อความใหม่ เปลี่ยนความหมายแห่งถ้อยคำให้เป็นอย่างอื่นโดยจงใจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในสมุดนั้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าความจริงเป็นดังที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นความผิดฐานปลอมหนังสือตามมาตรา 224
โจทก์ฟ้องขอให้ลงจำเลยตามมาตรา 230 แต่ความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 224 ซึ่งเป็นบทมีอัตราโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา 224 ได้.
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2491

ย่อยาว

จำเลยเป็นนายอำเภอศรีประจันต์ ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๘๕ จำเลยไปราชการที่จังหวัดพระนคร ไม่ได้อยู่ประจำทำงาน ณ ที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่อำเภอจึงได้เขียนชื่อจำเลยในสมุดรายวันทำการของอำเภอในช่องลงลายมือชื่อ และหมายเหตุไว้ว่าจำเลยไปราชการจังหวัดพระนคร จำเลยได้ขีดฆ่าชื่อของจำเลยที่เจ้าหน้าที่เขียนไว้ แล้วลงลายมือชื่อจำเลยลงไป และเขียนเติมข้อความในช่องเวลาทำงานว่า มาเวลา ๑๐.๐๐ น. กลับ ๑๕.๐๐ น. รวมเวลาทำงาน ๔ ชั่วโมง และเติมข้อความในช่องหมายเหตุว่ากลับจากจังหวัดตอนเย็นเดินทางไปราชการจังหวัดพระนครซึ่งเป็นความเท็จ โดยจำเลยมีเจตนาจะใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้อยู่ทำงาน ณ ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๘๕ เพื่อให้สมกับจำเลยเบิกความต่อศาลว่าวันนั้นจำเลยได้ทำการสอบสวนคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๒๓๐ จำคุก ๕ ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๒๓ จำคุก ๑ ปี
โจทก์ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยขีดฆ่าข้อความที่พนักงานเจ้าหน้าที่เขียนและหมายเหตุไว้ตามหน้าที่แล้วตกเติมข้อความใหม่ เปลี่ยนความหมายแห่งถ้อยคำให้เป็นอย่างอื่น โดยจงใจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในสมุดนั้น เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานลวงผู้อื่นให้หลงเชื่อว่าความจริงเป็นดังข้อความที่จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสมุดดังนี้ต้องด้วยลักษณะปลอมหนังสือราชการตามมาตรา ๒๒๔ แต่โจทก์อ้างบทมาตรา ๒๓๐ ซึ่งเป็นบทมีอัตราโทษสูงกว่าเป็นการคลาดเคลื่อนไป จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๒๔ มีกำหนดจำคุก ๑ ปี

Share