คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1398/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 โจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้อาศัยนายเปงสำ ๆ ได้ออกจากห้องพิพาทไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ต่อไป คดีนั้นจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยเองเป็นผู้เช่าจากโจทก์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ศาลฎีกา พิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้เช่าและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ พิพากษายกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1356/2496 ซึ่งอ่านให้โจทก์จำเลยฟังเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2497
ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าตั้งแต่เดิมคือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2494 (วันที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยอาศัย) ตลอดมา จะอ้างว่าระหว่างพิจารณาคดีเรื่องก่อน (ตั้งแต่ ก.พ.94 ถึงวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 24 เม.ย.97) จำเลยไม่ต้องชำระเพราะคดีนั้นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยอาศัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่านั้นไม่ได้
จำเลยกลับนำค่าเช่าสำหรับเดือนมกราคม กับเดือน กุมภาพันธ์ 2497 รวม 2 เดือน ไปชำระโจทก์โดยถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกย้อนหลังขึ้นไปจากนี้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับจึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และ พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแล้ว ทั้งต่อมาเดือนเมษายนโจทก์ส่งคนไปเก็บค่าเช่าที่ค้างทั้งหมดรวม39 เดือน จำเลยก็ไม่ชำระ โจทก์เตือนอีกจำเลยก็ไม่ชำระ ดังนี้เรียกว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ามากกว่า 2 คราวติด ๆ กัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ม. 16(1) แล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

คดีนี้คู่ความรับในข้อเท็จจริงกันว่าเรือนพิพาทเลขที่ ๒๘ ตำบลบ่อยาง จังหวัดสงขลา เป็นของโจทก์ จำเลยเช่าอาศัยอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๔ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างว่านายเปงสำ เป็นคนเช่าอยู่ จำเลยเป็นบริวารอาศัยอยู่กับนายเปงสำ ๆ ได้เลิกเช่าและออกไปแล้วแต่จำเลยไม่ยอมออก แต่ขออาศัยต่อไปอีก ๑ เดือน โจทก์ยอม พ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมออก จึงขอให้ศาลบังคับ คดีเรื่องนั้นจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่าได้และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้เช่าและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ พิพากษายกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๖/๒๔๙๖ ซึ่งได้อ่านให้โจทก์จำเลยฟังเมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. ๙๗ ต่อมาเดือนมีนาคม ๒๔๙๗ โจทก์ไม่มีหนังสือเดือนให้จำเลยนำค่าเช่าที่ค้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ รวม ๓๗ เดือนมาชำระแก่โจทก์ จำเลยยอมชำระให้เฉพาะ ๒ เดือน คือสำหรับเดือนมกราคม ๒๔๙๗ และเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ เท่านั้น โจทก์ไม่ยอมรับโจทก์จึงบอกเลิกการเช่า จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องหาว่าจำเลยไม่ชำระค่าเช่าเกินกว่า ๒ เดือน และโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแล้ว ขอให้ขับไล่
จำเลยต่อสู้ว่าตลอดเวลาที่เป็นความกันอยู่ในคดีเรื่องก่อน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้อาศัยเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิที่จะรื้อฟื้นกลับมาเรียกค่าเช่าย้อนหลังสำหรับเดือนที่แล้ว ๆ มานั้นได้จำเลยถือว่าการเช่าเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาพิพากษาคดีและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าได้ตั้งแต่วันนั้นตลอดมา ซึ่งจำเลยได้ส่งชำระแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ยอมรับเอง จำเลยจึงไม่ผิดนัด
ชั้นพิจารณาคู่ความแถลงข้อเท็จจริงรับกันดังกล่าวข้างต้น และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ๒ คราวติด ๆ กัน พิพากษาให้ขับไล่จำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาคัดค้านในข้อ ก.ม.ว่า
(๑) ระหว่างพิจารณาในคดีเรื่องก่อน โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้อาศัย จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าย้อนหลังไปถึงระยะเวลาเหล่านั้น
(๒) จำเลยได้ส่งค่าเช่าให้แล้ว โจทก์ไม่ยอมรับเอง จะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ๒ คราวติด ๆ กันไม่ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยตามลำดับดังนี้
ฎีกาข้อ ๑ แม้ในคดีเรื่องก่อนโจทก์จะได้อ้างฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้อาศัยก็ตาม แต่ศาลฎีกามิได้ชี้ขาดว่าจำเลยเป็นผู้อาศัย วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้เช่าเพื่ออยู่อาศัยในนามของจำเลยเองได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ก็เมื่อจำเลยถือตนเป็นผู้เช่าตลอดมาจนได้รับความคุ้มครองตาม ก.ม. ในฐานะที่เป็นผู้เช่าจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ ตลอดมาดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง
ฎีกาข้อ ๒ จำเลยเป็นผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าแก่โจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว และคดีเรื่องนี้จำเลยคงยืนยันข้อเดียวว่าค่าเช่าในระหว่างพิจารณาคดีเรื่องก่อน จำเลยไม่จำเป็นต้องเสียเท่านั้น จำเลยจึงไม่ยอมชำระค่าเช่าสำหรับเดือนที่ล่วงแล้วมา ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ค้างค่าเช่ามาแล้ว ๓๐ เดือนเศษ โจทก์มีหน้าที่ทวงค่าเช่าเหล่านี้ได้ และเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๗ (ถึงเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗) จำเลยไม่ยอมชำระกลับยืนยันให้เพียง ๑๒๐ บาท อันเป็นค่าเช่าสำหรับเดือนมกราคม ๒๔๙๗ กับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ เท่านั้น โจทก์ไม่ยอมรับไว้ซึ่งไม่ใช่ความผิดของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแล้ว ต่อมาเดือนเมษายน ๒๔๙๗ โจทก์ยังส่งคนไปเก็บค่าเช่ารวมทั้งหมด ๓๙ เดือน จำเลยไม่ยอมชำระ เตือนอีก ๒-๓ ครั้ง จำเลยก็ไม่ยอมจึงเป็นการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ามากกว่า ๒ คราวติด ๆ กันตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ม. ๑๖ (๑) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share