แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การส่งของที่ได้เสียภาษีขาเข้าแล้วกลับออกไปนั้นผู้เสียจะได้รับเงินค่าภาษีนั้นคืนตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ม.59 นั้น ไม่จำต้องเป็นว่าของนั้นต้องส่งไปยังท่าหนึ่งท่าใดนอกประเทศไทยจึงจะถือว่าเป็นการส่งกลับออกไปตามความหมายในมาตรา 59 นี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์นำบุหรี่เข้ามาในประเทศไทยและเสียค่าภาษีขาเข้าแล้วเป็นเงิน ๑๐,๒๐๓ บาท ๗๕ สตางค์ บุหรี่นี้ขายไม่ได้โจทก์จึงส่งกลับออกไปเพื่อจะได้คืนค่าภาษีขาเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ม.๕๙ โดยเรือซึ่งได้ออกจากท่ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔/๔/๘๑ วันรุ่งขึ้น (จากวันที่เรือออก) นายเรือได้จัดการทิ้งบุหรี่เสียในทะเลนอกเขตต์น่านน้ำไทย จำเลยไม่ถึงคืนเงินค่าภาษีให้ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ
โจทกืจำเลยรับกันว่า โจทก์มิได้ส่งสินค้ารายนี้ออกไปยังประเทศญี่ปุ่นดังที่โจทก์ได้แสดงไว้ในใบขนสินค้าขาออก และทั้งโจทก์มิได้ส่งไปยังท่าใดท่าหนึ่งนอกประเทศไทยจำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่เป็นการส่งกลับออกไปตามความมุ่งหมายของพ.ร.บ.ศุลกากรมาตรา ๕๙ โจทกืจำเลยได้ขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายในข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ก่อน
ศาลแพ่งเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรมาตรา ๕๙ นั้นของต้องส่งออกไปถึงท่าต่างประเทศด้วยจึงจะถือว่าเป็นการส่งกลับออกไปตามมาตรานี้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะชี้ขาด ปัญหาข้อกฎหมายให้คดีนี้เสร็จเด็ดขาดไปได้นั้น จะต้องได้ความข้อเท็จจริงโดยครบถ้วนยุตติเสียก่อนข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อโจทก์ไม่ได้ส่งไปยังท่าหนึ่งท่าใดแล้วได้ทิ้งบุหรี่เสียในทะเลนั้นภายในเขตต์หรือนอกเขตต์น่านน้ำไทย ข้อนี้ยังไม่ได้ความและเรือที่บรรทุกบุหรี่ได้ออกไปพ้นท่าสุดท้ายแห่งประเทศไทยแล้วหรือยัง และบุหรี่ที่โจทก์ทิ้งไปปรากฎว่าได้มีการจำหน่ายในประเทศไทยอีกหรือไม่ ก็ไม่ได้ความ ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่คู่ความขอให้ชี้ขาด จึงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีก่อนแล้วพิพากษาใหม่