แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องขัดทรัพย์นำสืบก่อน ถึงวันนัดผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ระบุพยานและไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณา สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องแสดงเหตุขอให้ศาลรับระบุพยานเพื่อสืบพยานต่อไปแล้วกลับถอนคำร้องนั้นเสีย ถือว่าผู้ร้องมิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกา
ย่อยาว
คดีนี้เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงยึดที่นา ๑ แปลงโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าที่นาเป็นของผู้ร้องโดยซื้อจากนางผิว ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด
โจทก์แก้คำร้องว่า ที่นาแปลงนี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางผิว การซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับนางผิวทำไปโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องขัดทรัพย์นำสืบก่อน ถึงวันนัดสืบพยานผู้ร้องขัดทรัพย์ยังไม่ได้ระบุพยานและไม่มาศาลๆ สั่งว่าผู้ร้องขัดทรัพย์ขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ก่อนวันสืบพยานโจทก์ ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องแสดงเหตุขอให้ศาลอนุญาตให้นำพยานเข้าสืบและรับบัญชีพยาน แล้วขอถอนคำร้องนี้เสีย ในวันเดียวกันนั้นศาลสืบตัวโจทก์ ๑ ปากพร้อมกับโจทก์อ้างเอกสารเป็นพยานและไม่สืบพยานต่อไป ผู้ร้องขัดทรัพย์จะขอสืบตัวผู้ร้อง ศาลสั่งว่าเมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์มีหน้าที่นำสืบก่อน ไม่ได้ระบุพยานและศาลสั่งขาดนัดแล้ว จึงไม่มีสิทธิจะสืบพยานได้ ในที่สุดฟังข้อเท็จจริงว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลย และผู้ร้องซื้อนาพิพาทไว้โดยการสมยอม ไม่สุจริต ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์ว่า จำวันนัดผิดและเป็นคนโง่ จึงไม่ได้ระบุพยานและขาดนัดพิจารณา ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ โดยอนุญาตให้ผู้ร้องขัดทรัพย์นำสืบได้ และค้านว่า เมื่อผู้ร้องขาดนัดพิจารณา ศาลควรจะสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๐๑ ไม่ควรนำสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องได้ถอนคำร้องที่ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐาน จึงเท่ากับผู้ร้องไม่ได้ร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐาน ส่วนเรื่องที่ผู้ร้องขาดนัด ศาลควรสั่งจำหน่ายคดีนั้น เห็นว่าเมื่อศาลสั่งว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณาและให้พิจารณาคดีโจทก์ต่อไปนั้น ผู้ร้อง มิได้โต้แย้งคำสั่ง จึงอุทธรณ์ ฎีกาไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๒๖(๒), ๒๔๗ แก้ไข(ฉบับที่ ๕) ๒๔๙๙ ม. ๒๔ และเมื่อศาลสั่งแล้วผู้ร้องกับโจทก์ยังได้ตกลงดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ให้ยกคำร้อง