แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาษีเงินได้นั้น ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติมุ่งถึงการรับตัวเงินในที่ใดเลย หากให้พิเคราะห์ถึงผลที่ว่าบริษัทในต่างประเทศนั้นได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทยหรือไม่ คำว่าเงินได้หรือผลกำไรนั้น มิใช่ตัวเงินสด บริษัทในต่างประเทศจะได้รับในทางเครดิตหรือทางอื่นใดก็ตาม ถ้าเป็นเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยแล้วก็ย่อมอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อความในประมวลรัษฎากรที่ว่าในประเทศไทย นั้น หมายถึงกิจการที่ประกอบอันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรนั้นได้กระทำในประเทศไทย หาใช่เงินได้หรือผลกำไรที่บริษัทต่างประเทศได้รับในประเทศไทยไม่
ภาษีการค้านั้น เมื่อบริษัทที่อยู่ต่างประเทศได้ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการค้าตามความหมายของประมวลรัษฎากรด้วย ฉะนั้น ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าอย่างไร โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่เสียอย่างนั้น
ภาษีเทศบาลนั้น เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเทศบาลด้วย
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2504)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องมีใจความว่าบริษัทอีสเตอนลีฟ โทเบโก จำกัด และบริษัท เอ.ซี.มองค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำการค้าใบยาสูบ ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้มอบหมายให้บริษัทโจทก์เป็นผู้ติดต่อกับโรงงานยาสูบแทนเป็นครั้งคราวโดยโจทก์ไม่เคยส่งมอบใบยาหรือรับชำระราคาใบยาจากโรงงานยาสูบหรือจากผู้ใด ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จำเลยที่ ๑ ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลกับเงินเพิ่มภาษีและภาษีเงินได้ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวทั้งสองจากโจทก์ๆ ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ ชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีดังกล่าวเป็นเงิน ๓๘๑,๘๑๗.๗๒ บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดเสียภาษีที่จำเลยที่ ๒ ชี้ขาด และให้ยกคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ นั้นด้วย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
คู่ความร่วมกันยื่นคำแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางข้อ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของกรมสรรพากรและคำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรที่สั่งให้เรียกเก็บภาษีจากโจทก์เป็นการยุติธรรมและเสมอภาคตรงตามเจตนารมย์ของกฎหมายแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑. สำหรับภาษีเงินได้นั้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๖,๗๐,๗๖ ทวิ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีความเป็นว่า การปฏิบัติกิจการของโจทก์ที่ติดต่อกับโรงงานยาสูบเป็นอันฟังได้ถนัดว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ขายใบยาแก่โรงงานยาสูบด้วยตนเอง โจทก์ก็ได้กระทำการเป็นตัวแทนของบริษัทอีสเตอน โทเบโก จำกัด และบริษัท เอ.ซี.มองค์ จำกัด ในสหรัฐอเมริกา และได้ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยขายใบยาสูบให้แก่โรงงานยาสูบในประเทศไทย ปัญหามีว่า การที่บริษัททั้งสองได้รับเงินค่าใบยาไปจากโรงงานยาสูบนั้น เป็นเหตุให้บริษัททั้งสองได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรหรือไม่ โจทก์โต้แย้งว่าบริษัททั้งสองไม่เคยรับเงินค่าซื้อขายในประเทศไทยเลย ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติมุ่งถึงการรับตัวเงินในที่ใดเลย หากให้พิเคราะห์ถึงผลที่ว่าบริษัทในต่างประเทศนั้นได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทยหรือไม่ คำว่าเงินได้หรือผลกำไรนั้นมิใช่ตัวเงินสด บริษัทในต่างประเทศจะได้รับในทางเครดิตหรือทางอื่นใดก็ตาม ถ้าเป็นเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยแล้ว ก็ย่อมอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว และย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสำหรับเงินได้หรือผลกำไรนั้นส่วนข้อความที่ว่า ในประเทศไทยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หมายถึงกิจการที่ประกอบอันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรนั้นได้กระทำในประเทศไทย หาใช่เงินได้หรือผลกำไรที่บริษัทต่างประเทศได้รับในประเทศไทยดังที่โจทก์โต้แย้งมานั้นไม่
๒.สำหรับภาษีการค้า นั้น ตามมาตรา ๗๘ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทอีสเตอน โทเบโก จำกัด และบริษัท เอ.ซี.มองค์ จำกัด ได้เป็นผู้ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการค้าตามความหมายของประมวลรัษฎากรนั้นด้วย ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่จะต้องเสียภาษีการค้าอย่างไร โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่ต้องเสียอย่างนั้น ตามข้อเท็จจริง โจทก์ได้เข้าทำสัญญากับโรงงานยาสูบโดยตรง แม้จะระบุชื่อตัวการว่าเป็นบริษัทที่อยู่ต่างประเทศก็ดี โจทก์ก็ต้องรับผิดตามสัญญานั้น แต่ลำพังตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๒๔ ฉะนั้น เงินค่าใบยาในกรณีซื้อขายนี้ แม้ผู้ซื้อจะสั่งตรงไปให้ตัวการยังต่างประเทศก็ดี ก็ต้องถือว่าเงินค่าของที่ขายนั้นเป็นราคาสินค้าตามสัญญาของโจทก์ที่มีต่อโรงงานยาสูบ โจทก์จะต้องเสียในอัตราตามยอดเงินรายรับตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ภาษีที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว
๓. สำหรับภาษีเทศบาลนั้น ตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๒ เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ฯลฯ (๑) ภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ฯลฯ” ฉะนั้น เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรในกรณีนี้แล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเทศบาลด้วย
ให้ยกฎีกาโจทก์