คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอให้บังคับตามสัญญาฝากขายเรือนและห้องพิพาทจำเลยต่อสู้ว่าเจตนาแท้นั้นตกลงกันทำจำนองสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางจึงเป็นโมฆะบังคับไม่ได้
เมื่อพยานหลักฐานฟังว่าได้พูดตกลงขายฝากกันตั้งแต่ต้นตลอดมาจนได้ทำสัญญาขายฝากกัน เมื่อคู่สัญญาตกลงกันเช่นนี้ แม้ภายหลังแทนที่โจทก์จะเข้าครอบครองทรัพย์ที่รับซื้อผากแต่กลับมอบให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองโดยจำเลยเป็นผู้เสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขายฝากก็ตาม ก็หากลายเป็นการจำนองหรือนิติกรรมอำพรามการจำนองไปไม่
การขยายเวลาให้ไถ่ถอนคืนต่อไปอีก 3 เดือนนั้นทำขึ้นอีกฉบับหนึ่งต่างหากไม่ทำให้สัญญาขายฝากเดิมเสียไป
สัญญาขายฝากเรือนและห้องพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไม่ใช่ที่ดินนายอำเภอหรือผู้แทนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำสัญญาให้ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม พ.ศ.2486 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ.2492.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำสัญญาขายฝากเรือนและห้องแถวเลขทะเบียนรวม ๔๗๗ เป็นจำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท สัญญาจะไถ่คืนใน ๓ เดือนและถ้าทรัพย์ขายฝากนี้ตกเป็นกรรมสิทธิแก่โจทก์ จำเลยจะจัดการให้โจทก์ได้เช่าที่ดินซึ่งปลูกสร้างทรัพย์ที่ขายฝากนี้จากผู้ให้เช่าที่ดินทันที ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญาขอยืดกำหนดเวลาไถ่คืนไปอีก ๓ เดือน การขายฝากได้รับความยินยอมจากผู้แทนของเจ้าของที่ดินแล้ว บัดนี้ครบกำหนด จำเลยไม่ยอมออก จึงขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากเรือนและห้องแถวพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาขายฝากที่ทำกันไว้เป็นการอำพรางความจริง เพราะเจตนาอันแท้จริงเป็นการจำนองทรัพย์สินไว้ต่อกัน จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินรายนี้ ถ้าเป็นสัญญาขายฝากสัญญานี้ก็เป็นโมฆะ
คดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ครั้งหนึ่งแล้วโดยพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยให้ประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย ที่ว่าสัญญานี้เป็นนิติกรรมอำพรางแล้วพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าเจตนาอันแท้จริของคู่สัญญาเป็นเพียงจำนองเรือนและห้องพิพาทเท่านั้นแม้จะปรากฏว่าได้ทำเป็นสัญญาขายฝากก็ตาม แต่เจตนาและในทางปฏิบัติต่อกันเป็นจำนองก็ต้องบังคับตามจำนอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยกับบริวารออกไปจากเรือนและห้องพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีน่าเชื่อตามศาลอุทธรณ์ว่าคำพยานหลักฐานโจทก์ว่าได้พูดตกลงขายฝากกันตั้งแต่ต้นตลอดมาจนได้ทำสัญญาขายฝากนั้น เมื่อคู่สัญญาได้ตกลงกันเช่นนี้ แม้ภายหลังแทนที่โจทก์จะเข้าครอบครองทรัพย์ที่รับซื้อฝากแต่กลับยอมให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองโดยจำเลยเป็นผู้เสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขายฝากก็หากลายเป็นการจำนองหรือเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองไปไม่ เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่คืนแล้วไม่ไถ่คืนย่อมหมดสิทธิการขยายเวลาให้ไถ่คืนต่อไปอีก ๓ เดือนนั้นทำขึ้นอีกฉบับหนึ่งต่างหากไม่ทำให้สัญญาขายฝากเดิมเสียไป และสัญญาขายฝากเรือนกับห้องพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไม่ใช่ที่ดิน นายอำเภอหรือผู้แทนเป็นพนักงานจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.๒๔๘๖ แก้ไขฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๔๙๒
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
จัดทำสัญญาให้ได้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่

Share