แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิตามประมวลแพ่ง ฯ มาตรา 729 ต้องบอกกล่าวให้ผู้จำนองทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ดังบัญญัติไว้ใน ม.728 เพราะมาตรา 728 และ 729 เป็นบทบังคับจำนอง ต้องอ่านคู่กันไป ถ้าไม่บอกกล่าวก่อน จะบังคับเอาทรัพย์ให้หลุดจำนองไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๗๒ จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดที่ ๕๙๘๑ ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ไว้กับนายจอน แอมดันลอบ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท ให้ดอกร้อยละ ๘๔ สตางค์ต่อเดือน นายจอนเป็นตรัสตีกองมรดกพระยาวิสูตร์สาครดิษฐ์(กับตันบุช)บิดาโจทก์ผู้มรณะไปแล้ว นายจอนกลับไปอังกฤษมอบฝากกองตรัสท์ไว้กับนายเลาเด็น ต่อมานายเลาเด็นกลับไปอังกฤษได้มอบฝากกองตรัสท์ไว้กับสำนักงานทนายความตี เลดี้แอนด์กิบบินส์ในพระนครให้ดูแลปกครอง ต่อมานายจอนและนายเลาเด็นถึงแก่มรณะ ตั้งแต่จำเลยจำนองถึงบัดนี้กว่า ๕ ปี จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ที่พิพาทหลุดเป็นสิทธิของโจทก์
จำเลยต่อสู้หลายประการแต่ที่เป็นประเด็นสำคัญมาสู่ศาลฎีกา คือโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวแก่จำเลยก่อนฟ้อง
คู่ความรับกันว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวขอบังคับจกนองต่อจำเลย
ศาลจึงสั่งงดสืบพยาน และตัดสินให้โจทก์แพ้คดี
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ตาม ม.๗๒๘ เมื่อจะบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้ โดยมาตรานี้โจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าวจึงไม่มีสิทธิบังคับจำนอง แม้โจทก์จะฟ้องตาม ม.๗๒๙ แต่ ม. ๗๒๙ นี้ก็ต้องอ่านควบกับ ม.๗๒๘ นั้นก็คือแม้จะบังคับคดีตาม ม.๗๒๙ โจทก์ก็ต้องบอกกล่าวตาม ม.๗๒๘ ดุจกัน เมื่อโจทก์ไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับจำนอง จึงพิพากษายืน.