คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นาแปลงที่จำเลยบุกรุก โจทก์ร่วมได้โอนไปให้บุตรและบุตรไปแจ้ง ส.ค.1 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เจ้าของที่นาดังกล่าว ดังนั้นการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย
วันที่ 16 มี.ค.99 จำเลยเข้าไปบุกรุกยกคันนา นายเชิดผู้เสียหาย(โจทก์ร่วมอีกคนหนึ่ง) ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ๆ ห้ามจำเลย ๆ ว่า”เป็นนาของนายเชิด ผมก็ไม่ทำ” ผู้ใหญ่บ้านถามนายเชิด โจทก์ร่วมว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป นายเชิดว่า “ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง” ต่อมาวันที่ 3 พ.ค.99 จำเลยกลับเข้าไปหว่านข้าวในนานั้นอีก นายเชิดจึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอได้ดำเนินการสอบสวนคดีนี้ แสดงให้เห็นว่าถ้าจำเลยเชื่อฟังนายเชิดก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าไม่ฟังก็ต้องเอาเรื่องกันต่อไป ซึ่งเท่ากับให้งดรอการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานไว้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อจำเลยกลับเข้าไปทำงานอีก ผู้เสียหายจึงเอาเรื่องคือให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีที่งดรอไว้นั้นเอง ไม่มีทางที่จะให้รับฟังว่าความผิดฐานบุกรุกตอนแรกในวันที่ 16 มี.ค.99 นั้นเป็นอันสูญสิ้นไปแล้ว
คดีนี้ได้ความว่าจำเลยกระทำผิด 2 คราวคือในวันที่ 16 มี.ค.99 กับในวันที่ 3 พ.ค.99 และผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ทั้ง 2 คราว แต่ฟ้องโจทย์ระบุชัดเจนว่าผู้เสียหายร้องทุกข์สำหรับความผิดในตอนแรก (16 มี.ค.99)เท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้กล่าวฟ้องถึงความผิดในตอนหลัง (3 พ.ค.99) เลย จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตอนหลังนี้ไม่ได้ แต่โจทก์มีสิทธ์ที่จะนำสืบถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในตอนหลังคือ ในวันที่ 3 พ.ค.99 เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทำผิดคำรับรองในตอนต้น ( 16 มี.ค.99 ) ซึ่งเป็นข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง หาเป็นนอกฟ้องนอกประเด็นไม่.
( ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2501 )

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๙ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๙ เวลากลางวันจำเลย บังอาจบุกรุกที่ดิน โดยขุดดินทำคันนาและหว่านข้าวลงในที่นาของนางนาง นางด้วง และนายเชิด โดยจำเลยมีเจตนามิให้บุคคลดังกล่าวครอบครองเนื้อที่นาโดยปกติสุขและเพื่อจะถือเอาที่นานั้น และเมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๔๙๙ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ฟ้องร้องจำเลย ขอให้ลงโทษตามก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา ๓๒๗
นางนาง นางด้วง นายเชิด ขอเข้าเป็นโจทย์ร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญา ม. ๓๒๗ ให้ปรับ ๕๐ บาท ฯลฯ
ศาลอุธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
อัยการโจทย์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่นางนางและด้วงให้การรับว่าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยโดยมอบนาแปลงนี้ให้ลูกเขย ลูกสาวไปทำจนลูกเขยไปแจงแบบ ส.ค. ๑ แล้ว แสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองนี้ไม่ใช่เจ้าของที่นารายพิพาทเสียแล้ว และไม่มีสิทธิอันใดที่จะร้องทุกข์แทนคนอื่น ดังนั้น การร้องทุกข์ของคนทั้งสองนี้ จึงไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย ข้อหาของโจทก์ในเรื่องบุกรุกที่นาของ นางนาง และ นางด้วง โจทก์ร่วมจึงเป็นอันตกไป
สำหรับข้อหาเรื่องบุกรุก ที่นาของ นายเชิด โจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งนัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. ๙๙ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. จำเลยได้เข้าไปบุกรุกยกคันนา นายเชิด ออไป ห้ามก็ไม่ฟัง จึงไปแจ้งความต่อ นายนัย ผู้ใหญ่บ้าน หาว่าจำเลยรุกที่นา นายนัย ห้ามจำเลย จำเลยว่า “เป็นนาของ นายเชิด ผมก็จะไม่ทำ ” แล้วแบกจอบกลับไป นายนัย ถาม นายเชิดว่า จะให้ทำอย่างไรต่อไป นายเชิด ว่า ” ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง”
ต่อมาวันที่ ๓ พ.ค. ๙๙ จำเลยกลับเข้าไปหว่านข้าว ในนาแปลงนี้อีก นายเชิด จึงไปแจ้งความต่อ นายนัย ๆ รายงานไปยังอำเภอ อำเภอจึงดำเนินการสอบสวนเป็นคดีเรื่องนี้
ศาลฎีกา ปรึกษาในที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกรายนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ มี.ค. ๙๙ และ นายเชิดผู้เสียหาย ได้ร้องทุกข์แล้ว ที่นายเชิด ตอบผู้ใหญ่บ้านว่า “ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง ” แสดงให้เห็นความประสงค์ว่าถ้าจำเลยเชื่อฟังก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าขืนดื้อดึงเข้ามาทำอีก ก็ต้องเอาเรื่องกันต่อไป ซึ่งเท่ากับให้งดรอการดำเนินคดีของเจ้าพนักงาน ไว้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ครั้นจำเลยกลับสัตย์ขืนเข้ามาหว่านข้าวอีกในวันที ๓ พ.ค. ๙๙ นายเชิด จึงเอาเรื่องโดยให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีต่อไปก็คือ เรื่อง เดิมที่งดรอเอาไว้นั้นเอง ไม่มีทางที่จะให้รับฟังว่าความผิดฐานบุกรุกตอนแรกในวันที่ ๑๖ มี.ค. ๙๙ นั้นเป็นอันสูญสิ้นไปแล้ว
ความจริงการกระทำผิดของจำเลย ในวันที่ ๑๖ มี.ค. ๙๙ และวันที่ ๓ พ.ค. ๙๙ นั้นผู้เสียหายอาจทำคำร้องทุกข์ได้ทั้บง ๒ คราว แต่เรื่องนี้ฟ้องโจทก์ ระบุชัดเจนว่าผู้เสียหายร้องทุกข์สำหรับความผิด ในตอนแรกเท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้กล่าวฟ้องถึงความผิดในตอนหลัง คือความผิดในวันที่ ๓ พ.ค. ๙๙ นั้นเลย จะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตอนหลังนี้ไม่ได้แต่การที่โจทก์นำสืบถึงเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นใหม่ในวันที่ ๓ พ.ค. ๙๙ เพื่อแสดงให้เห็นว่า จำเลย ทำผิดคำรับรองให้ตอนต้น ( ๑๖ มี.ค. ๙๙ ) นั้นเป็นการสืบเกี่ยวกับประเด็นโดยตรง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะราย นายเชิด โจทก์ ร่วมว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญา ม.๓๒๗ ให้วางโทษปรับ ๕๐ บาท ฯลฯ

Share