แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 176 เดิมบัญญัติถึงกรณีที่จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้ถือเกณฑ์อัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ที่แก้ไขใหม่ได้เปลี่ยนหลักเดิมเป็นถือเกณฑ์อัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น แม้ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. 131 ที่แก้ไข มีโทษขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิตหรือ 20 ปี แต่ก็มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ไม่ต้องสืบพยานประกอบ
โจทก์ฟ้องและอ้างประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายความถึงประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประกาศใช้โดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมาย อาญา พ.ศ. 2499 นั่นเอง
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 147 เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดกว่ากฎหมายลักษณะอาญา ม. 131 ที่แก้ไข (เฉพาะข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2502 ควรเทียบดูกับฎีกาที่ 1292/2500 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่และฎีกาที่ 1814/2500)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยักยอกทรัพย์ของทางราชการกรมตำรวจ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการรักษาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตคิดเป็นเงิน ๑๗,๐๕๔.๙๓ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๑๓๑ แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๔ ม.๓ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ม. ๑๔๗ และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยรับสารภาพ
คู่ความแถลงไม่สืบพยาน
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๓๑ แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๔ ม.๓ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ม. ๑๔๗ แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๔๗ ประกอบด้วย ม.๓ ซึ่งเป็นคุณ จำคุก ๕ ปี รับลดกึ่งตาม ม.๗๘ คงเหลือ ๒ ปี ๖ เดือน และให้จำเลยคืน หรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวหาจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๓๑ ซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำกำหนดให้เพียง ๑ ปีเท่านั้น ไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับก็ฟังคำรับสารภาพของจำเลยลงโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาคัดค้านว่า ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๓๑ มีโทษ ๒ สถาน คือจำคุกตลอดชีวิตสถานหนึ่ง หรือตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๒๐ ปี อีกสถานหนึ่ง โทษตลอดชีวิตไม่มีโทษขั้นต่ำ ่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ม.๑๗๖ เดิมบัญญัติถึงกรณีที่จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ให้ถือเกณฑ์อัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป แต่ที่ได้แก้ไขโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๑ ได้เปลี่ยนหลักเดิมเป็นถือเกณฑ์อัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงเป็นอันว่าอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดในความผิดไม่เป็นข้อสำคัญ แม้กฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๓๑ ที่แก้ไข ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำผิดกำหนดอัตราโทษให้จำคุกตลอดชีวิตหรือตั้งแต่ ๑ ปีถึง ๒๐ ปีก็ดี กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงจะเป็นโทษจำคุกหนักกว่า ๕ ปี แต่ก็เป็นอัตราอย่างสูง ในม.๑๓๑ ดังกล่าว หาใช่อัตรา โทษอย่างต่ำไม่ เพราะอาจลงโทษจำคุกต่ำกว่าตลอดชีวิตก็ได้ อัตราโทษอย่างต่ำ ๑ ปี จึงไม่อยู่ในเกณฑ์บังคับให้จำต้องสืบพยานประกอบ ศาลอาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีออกใช้ คงมีแต่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์เรียกว่าประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็พอเข้าใจได้ว่าหมายความถึงประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งได้ประกาศใช้โดย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ นั่นเอง
กฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๓๑ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๔ ม.๓ และ พ.ร.บ. อนุมัติให้ใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งใช้อยู่ในขณะที่จำเลยทำผิด กำหนดอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๒๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๕๐๐ บาท – ๑๐,๐๐๐ บาท แต่อัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๔๗ จำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี และปรับไม่เกิน ๒๐, ๐๐๐ บาท ไม่มีอัตราโทษอย่างต่ำ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ ให้ใช้ ม.๑๔๗ ประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทลงโทษจำเลย
พิพากษายืน