คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5945/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 ให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปคืนจากผู้ขับขี่รถหรือผู้ประสบภัยได้ก็แต่กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้นั้น เมื่อ น. มิได้ขับรถโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ผู้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กนล 263 ศรีสะเกษ ไว้จากจำเลยที่ 2 มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2543 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โจทก์จะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายให้แก่ผู้ประสบภัยสูงสุดรายละไม่เกิน 80,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นมารดานายสุวรรณ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2542 นายสุวรรณขับรถจักรยานยนต์ตามฟ้อง โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงพุ่งชนกระบือ เป็นเหตุให้นายสุวรรณถึงแก่ความตายโดยนายสุวรรณไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ เป็นการผิดเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัย โจทก์ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยได้เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทนายสุวรรณ ได้ร้องขอให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแทนโจทก์ บริษัทดังกล่าวได้จ่ายไปก่อนจำนวน 15,000 บาท ต่อมาบริษัทได้ขอเบิกเงินที่ชำระไปแทนคืนจากโจทก์โดยรับชำระไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมรดกของนายสุวรรณจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่ได้รับคืน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นตัวการใช้จ้างวานให้นายสุวรรณขับรถไปในขณะเกิดเหตุจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ชำระไปก่อนคืนแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 15,000 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000 บาท นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงิน เมื่อคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 2,294 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 17,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายสุวรรณ มิได้มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และมิได้ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 600 บาท แก่จำเลยที่ 10 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กนล 263 ศรีสะเกษ และประกันภัยไว้ต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2542 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตามสัญญาประกันภัย ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 ได้ยินยอมให้นายสุวรรณ ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนทั้งๆ ที่นายสุวรรณไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ และเกิดเหตุชนกระบือจนรถจักรยานยนต์ล้มและนายสุวรรณได้รับอันตรายจนเสียชีวิต บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาและทายาทโดยธรรมของนายสุวรรณตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไปก่อน โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 และบริษัทดังกล่าวได้รับชำระคืนจากโจทก์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีผลก่อให้เกิดหนี้ โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นข้อนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับไปในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปคืนจากผู้ขับขี่รถหรือผู้ประสบภัยได้ก็แต่กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้นั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นายสุวรรณมิได้ขับรถโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ผู้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุวรรณต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประการที่สองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อนายสุวรรณ และจำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้ประสบภัย” ดังนิยามศัพท์ในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารหมาย จ.4 กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อกำหนดในกรมธรรม์ดังกล่าวข้อ 19 และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องปรากฏว่า โจทก์บรรยายอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 เพียงว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เอาประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยมิได้โต้แย้งว่าข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ไม่ถูกต้องในประการใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง และต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share