แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นพลตำรวจสมัครประจำกองตำรวจภูธร ลามากิจธุระ ไม่แต่งเครื่องแบบ แต่มีเข็มขัดตำรวจคาดอยู่ จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายซึ่งจับปลาในลำน้ำชีอันเป็นที่สาธารณะในฤดูปลามีไข่ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายว่า ถ้าไม่ให้จับก็ให้ให้ปลาแก่จำเลยที่ 1 เสีย ผู้เสียหายกลัว จึงยอมให้ปลาแก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้ แม้ในทางปฏิบัติกรมตำรวจได้วางระเบียบไว้ว่า พลตำรวจภูธรประจำกองตำรวจภูธรจะสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดนั้น จะต้องมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองขึ้นไปก็ดี แต่เมื่อมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า พลตำรวจภูธรไปปรากฏตัว ณ ที่ใดแม้จะเป็นนอกเขตอำนาจของพลตำรวจผู้นั้น ถ้าปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดซึ่งหน้าพลตำรวจภูธรผู้นั้นก็มีอำนาจจับได้ ดังนี้ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายมอบปลาให้เป็นประโยชน์แก่ตน
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นครูประชาบาลมายังที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 และในขณะที่จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายว่า ถ้าจะไม่ให้จับ ก็ให้ให้ปลาเสียนั้น จำเลยที่ 2 ก็ได้พูดกับผู้เสียหายต่อเนื่องกันไปว่า ทำผิดกฎหมายแล้ว เอาปลาให้ตำรวจเสีย จะได้ไม่ถูกจับ และในที่สุดเมื่อผู้เสียหายยอมให้ปลาแล้ว จำเลยที่ 1 หิ้วถังปลาไปจำเลยที่ 2 ก็เดินตามไปพร้อม ๆ กันด้วย พฤติการณ์เช่นนี้ เข้าลักษณะที่ว่าเป็นการช่วยเหลือในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดในขณะกระทำความผิดอันเป็นลักษณะของผู้สนับสนุน ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดแล้ว
ย่อยาว
ข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๐๑ เวลากลางวัน พลตำรวจจันดา จำเลยที่ ๑ ซึ่งประจำกองตำรวจภูธรจังหวัด มหาสารคาม ลามากิจธุระไม่แต่งเครื่องแบบ แต่มีเข็มขัดตำรวจคาดอยู่ มาถึงที่เกิดเหตุกับนายศรีจำเลย ที่ ๒ ซึ่งเป็นครูประชาบาลและนายใหญ่ พบนายบุญศรี นายชม ล้อมเฝือกในลำน้ำชี ใช้สวิงช้อนจับปลาซึ่งต้องห้ามมิให้จับปลาในฤดูมีไข่จำเลยที่ ๑ ถามซื้อปลา นายบุญศรีบอกให้นั่งคอยก่อน ต่อมาเมื่อจับปลาเสร็จก็เอาข้องใส่ปลาขึ้นมาเทปลาใส่ถังสังกะสีให้ดู มีปลาประมาณ ๘ กิโลกรัม พลตำรวจจันดาจำเลยที่ ๑ ถามราคา นายบุญศรีบอกขาย ๓๐ บาท พลตำรวจจันดาว่า ๓๐ บาท อย่างไร ทำผิดกฎหมายจับปลาต้องห้ามและว่าไม่จับก็ให้ปลาเสีย นายศรีจำเลยที่ ๒ ก็พูดว่า ทำผิดกฎหมายเอาปลาให้ตำรวจเสียจะได้ไม่ถูกจับนายบุญศรีกลัว จึงยอมให้ปลา พลตำรวจจันดาก็หิ้วถังปลาไป นายศรีจำเลยที่ ๒ และนายใหญ่ตามไปด้วย
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า พลตำรวจจันดาจำเลยที่ ๑ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗ และนายศรีจำเลยที่ ๒ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ ,๑๕๗ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๘ ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา ๙๐ ให้จำคุก คนละ ๑ ปีสำหรับนายศรีจำเลยที่ ๒ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ (ผู้สนับสนุนกระทำความผิด) ต้องระวางโทษ ๒ ใน ๓ ส่วน ของโทษที่กำหนดไว้ เหลือเป็นจำคุกนายศรีจำเลย ๘ เดือน
คดีนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิใช่พนักงานตามกฎหมาย และว่าถ้อยคำและอากัปกิริยาของจำเลยที่ ๒ ในขณะเกิดเหตุไม่ความผิดฐานสมรู้
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ได้แสดงตัวว่าเป็นตำรวจโดยทั้งการแต่งกายซึ่งมีเข็มขัดตำรวจคาดอยู่และทั้งวาจาที่พูดกับนายบุญศรีผู้เสียหาย นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ก็ยังได้พูดสนับสนุนให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ส่วนอำนาจหน้าที่ ของพลตำรวจจันดาจำเลยนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของนายพันตำรวจโทมณู เศวตวรรณ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งศาลล่างได้ฟังมาว่า พลตำรวจภูธรประจำกองตำรวจภูธรจังหวัดมีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดแม้ในทางปฏิบัติกรมตำรวจได้วางระเบียบไว้ว่า จะต้องมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นบังคับกองขึ้นไป พลตำรวจจึงจะออกไปสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดได้ก็ดี แต่ก็ยังมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า พลตำรวจภูธรไปปรากฏตัว ณ ที่ใด แม้จะเป็นที่นอกเขตอำนาจของพลตำรวจผู้นั้น ถ้าปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดซึ่งหน้า พลตำรวจภูธรผู้นั้น ก็มีอำนาจจับกุมได้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าการกระทำของพลตำรวจจันดาจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้นายบุญศรีกับพวกมอบปลาให้เป็นประโยชน์แก่ตนและพรรคพวกแล้ว
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ ๒ นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ มายังที่เกิดเหตุพร้อมกับพลตำรวจจันดาจำเลยที่ ๑ และในขณะที่จำเลยที่ ๑ พูดกับผู้เสียหายว่า ถ้าจะไม่ให้จับก็ให้ปลาเสียนั้น นายศรีจำเลยที่ ๒ ก็ได้พูดกับเสียหายต่อเนื่องกันไปว่า ทำผิดกฎหมายแล้ว เอาปลาให้ตำรวจเสียจะได้ไม่ถูกจับและในที่สุดเมื่อผู้เสียหายยอมให้ปลาแล้วจำเลยที่ ๑ หิ้วถังปลาไป จำเลยที่๒ ก็เดินตามไปพร้อม ๆ กันด้วย พฤติการณ์เช่นนี้เข้าลักษณะที่ว่า เป็นการช่วยเหลือในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดในขณะกระทำความผิดอันเป็นลักษณะของผู้สนับสนุนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า เป็นความผิดแล้ว