เรื่อง ยืม จำนอง
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้จำเลยตามที่ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิม โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยด้วยอย่างเจ้าหนี้สามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ทั้งจำเลยยังจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันของตนแก่เจ้าหนี้เดิมและโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิจำนอง โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดในส่วนที่ขาดจนครบจำนวน อันเป็นความตกลงยกเว้นบทบัญญัติ มาตรา 733 ซึ่งใช้บังคับได้ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้จำนองอีกฐานะหนึ่งซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญด้วย เมื่อโจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้เงินตามคำขอ ให้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ซึ่งเป็นการขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้โดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพย์สินที่จำนองหรือไม่ จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง จึงชอบที่ศาลจะบังคับให้ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในส่วนนี้เพียงว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เป็นทำนองกำหนดวิธีการบังคับชำระหนี้อย่างเป็นลำดับโดยให้โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองก่อนเท่านั้น ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิบังคับชำระหนี้ของโจทก์ให้ด้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ชอบ./
(ฎีกา 5630/2562) (อัพเดท 24.02.2563)