ตั๋วเงิน ค้ำประกัน จำนอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3263/2562)

ตั๋วเงิน ค้ำประกัน จำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3263/2562

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

                   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 386  วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง”  และมาตรา 169  วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา…”  เมื่อตามสัญญาค้ำประกัน จ.8 ถึง จ.10 ข้อ 8 ระบุว่า  ผู้ค้ำประกันตกลงว่าในกรณีที่ธนาคารมีหนังสือแจ้งหรือบอกกล่าวเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการค้ำประกันตามหนังสือสัญญานี้  หรือตามกฎหมาย หากส่งไปยังผู้ค้ำประกัน  ณ  ที่อยู่ดังกล่าวข้างต้นของหนังสือสัญญานี้  หรือส่ง ณ สถานที่ซึ่งผู้ค้ำประกันแจ้งให้ธนาคารทราบเป็นหนังสือในภายหลัง  ให้ถือว่าธนาคารได้แจ้งหรือบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้ค้ำประกันทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่  2 เคยแจ้งย้ายให้โจทก์ทราบ  ดังนั้น ที่พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถามของโจทก์เอกสารหมาย จ.16 และ จ.19 ไปส่งให้จำเลยที่  2  ที่บ้านเลขที่  9/5 หมู่ที่  3  ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง  จังหวัดสมุทรปราการ  ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา  อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ  แม้จะไม่พบจำเลยที่  2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่  แสดงว่า จำเลยที่  2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์  และถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่  2 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่  2 ชำระหนี้ตามที่อยู่เดียวกันกับคำฟ้อง ซึ่งมีผู้รับแทนจำเลยที่  2 ไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.24  มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นประกอบมาตรา  686 วรรคหนึ่ง  ที่แก้ไขใหม่  ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  (ฉบับที่ 20)  พ.ศ.  2557 แล้ว  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง   

                   สำหรับความรับผิดของจำเลยที่  2 นั้น เมื่อศาลรับฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าการส่งคำบอกกล่าวให้แก่จำเลยที่  2 ตามเอกสารหมาย จ.16  ถึง จ.19  และ จ.24  เป็นไปโดยชอบ  และตามสัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อการนำเข้าและตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.4  ถึง จ.7  ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่  21 กรกฎาคม  2558  และวันที่ 30  กรกฎาคม  2558 ตามลำดับ  เมื่อจำเลยที่  1 ไม่ชำระหนี้  กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่  12 กุมภาพันธ์  2558  ความรับผิดของจำเลยที่  2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา  686  ที่แก้ไขใหม่ ตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  (ฉบับที่ 20) พ.ศ.  2557  ซึ่งในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่  2 นั้น ได้ความตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.16 และ จ.18  ลงวันที่ 31  สิงหาคม  2558 สำเนาซองจดหมายลงทะเบียนตอบรับระบุว่า “ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่” โดยไม่ปรากฏหลักฐานวันที่โจทก์นำส่งหรือวันที่จดหมายไปถึงที่อยู่ของจำเลยที่  2 ชัดเจนเมื่อเป็นที่สงสัยจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้เป็นคุณแก่ลูกหนี้ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.16  และ จ.18  ได้ไปถึงจำเลยที่  2 ภายในกำหนดเวลา  60  วัน  นับแต่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด  แต่เมื่อตรวจสอบหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.17  และ จ.18  ลงวันที่  29 กันยายน  2558  ซึ่งมีการส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ปรากฏในตราประทับประจำวันที่ทำการรับฝากระบุว่า  วันที่ 2  ตุลาคม  2558 ในหน้าซองจดหมายระบุว่า “ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่”  และในข้อความนำจ่ายผู้รับระบุว่า  3/10 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงพออนุมานได้ว่าหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ดังกล่าวได้ไปถึงจำเลยที่  2 ภายหลังวันที่  2  ตุลาคม 2558  อันเป็นเวลาที่พ้นกำหนด  60  วัน  นับแต่จำเลยที่  1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตามมาตรา 686  วรรคหนึ่ง  จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน  ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวตามวรรคสอง  ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่  2 รับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงินจำกัดเฉพาะช่วงเวลา  60  วัน  นับแต่จำเลยที่  1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดจึงชอบแล้ว 

                   อนึ่ง  เมื่อความรับผิดของจำเลยที่  2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่  1 อย่างลูกหนี้ร่วม  ศาลชั้นต้นต้องพิพากษาให้จำเลยที่  1 ชำระหนี้ก่อน  ถ้าจำเลยที่  1 ไม่ชำระจึงให้จำเลยที่  2  ชำระแทน เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์  ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา  142 (5)  ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  พ.ศ. 2551  มาตรา  7  (ฎีกาที่ 3263/2562)

Share