ผิดสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ มัดจำสูงเกินส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2563
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ เอกสารหมาย จ.2 ระบุเงื่อนไขเวลาในการรับรถยนต์ว่า “กำหนดรับรถโดยประมาณภายใน ก.ค. 2015” ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นวันใด เมื่อไม่อาจกำหนดวันที่แน่นอนได้สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จำต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ การที่จำเลยยังไม่ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์จึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ ระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
จำเลยแจ้งให้โจทก์รับรถยนต์ที่สั่งซื้อแล้ว แต่โจทก์ปฏิเสธจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำ 1,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวน
มัดจำเปรียบเทียบกับราคารถยนต์และความเสียหายที่จำเลยได้รับแล้ว เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 100,000 บาท และจำเลยต้องคืนมัดจำอีก 900,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 900,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์