คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9994/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากเห็นสมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการต่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับเอากับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมุ่งต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุน หรือการช่วยเหลือการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่ายโอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ จึงเป็นการดำเนินคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่เป็นเรื่องโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นการใช้อำนาจรัฐในการติดตามหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนโดยมิชอบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะกรณีมิใช่เป็นการบังคับใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง และไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ผู้ร้องย่อมมีอำนาจขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีขอบเขตเรื่องระยะเวลาในการติดตามยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกผู้ร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 7 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 7 ผู้คัดค้านที่ 8 และที่ 9 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 8 และที่ 9 ผู้คัดค้านที่ 10 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 10 ผู้คัดค้านที่ 11 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 5 ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 11 ผู้คัดค้านที่ 12 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 6 ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 12 ผู้คัดค้านที่ 13 ถึงที่ 15 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 13 ถึงที่ 15 ผู้คัดค้านที่ 16 และที่ 17 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 16 และที่ 17 ผู้คัดค้านที่ 18 ถึงที่ 21 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 18 ถึงที่ 21 ผู้คัดค้านที่ 9 ถึงที่ 12 ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 22 ถึงที่ 25 และผู้คัดค้านที่ 22 ถึงที่ 28 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 26 ถึงที่ 32 ตามลำดับ
คดีสำนวนแรกและสำนวนที่สอง ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด พร้อมดอกผลของทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 14 ที่ 16 ถึงที่ 20 และที่ 22 ถึงที่ 25 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 21 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด และคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 21
ผู้คัดค้านที่ 26 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 26
ผู้คัดค้านที่ 27 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิ โดยให้ที่ดินจำนองตกเป็นของแผ่นดินหลังจากชำระหนี้ตามภาระจำนองแก่ผู้คัดค้านที่ 27 ก่อน และให้ผู้คัดค้านที่ 27 หักเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์เลขที่ 177 0 36xxxx จำนวน 100,000 บาท ไปชำระเงินที่จ่ายไปตามเช็คในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 177 3 03xxxx และหักเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์เลขที่ 117 0 43xxxx จำนวน 1,440,000 บาท ไปชำระเงินที่จ่ายไปตามเช็คในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 177 3 04xxxx ส่วนที่เหลือจึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 28 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง และสั่งคืนทรัพย์แก่ผู้คัดค้านที่ 28
ผู้คัดค้านที่ 29 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 29
ผู้คัดค้านที่ 30 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 30
ผู้คัดค้านที่ 31 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสิทธิ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 31 บังคับชำระหนี้จากเงินฝากดังกล่าวหรือหักกลบลบหนี้ได้
ผู้คัดค้านที่ 32 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้คัดค้านที่ 32 โดยให้ได้รับชำระหนี้ในจำนวนที่ผู้คัดค้านที่ 32 ชำระหนี้แทนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ไป พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 27 ขอถอนคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินในสำนวนแรกและในสำนวนที่สอง พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 ยกเว้นทรัพย์สินในสำนวนแรก อาวุธปืน เงินฝากธนาคาร เครื่องประดับและอัญมณี กล้องถ่ายรูป และทรัพย์สินในสำนวนที่สองให้คืนแก่เจ้าของ ให้ผู้คัดค้านที่ 31 มีสิทธิหักชำระหนี้บัตรเครดิตจำนวน 55,413.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2545 เป็นต้นไป จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 045 1 05xxx x คำขออื่นของผู้ร้อง และคำร้องของผู้คัดค้านที่ 32 ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 อุทธรณ์ โดยผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ฎีกา โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา ส่วนผู้คัดค้านที่ 13 ศาลชั้นต้นรับฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ ผู้คัดค้านที่ 13 ไม่อุทธรณ์คำสั่งจึงยุติ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อปี 2530 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายดำรงหรือแบะ นายสมศักดิ์หรือเปี๊ยก และนายประเสริฐ ได้พร้อมเฮโรอีนจำนวน 21 กระสอบ น้ำหนัก 615,964 กรัม บนเรือประมงชื่อเทพมงคล จากการสืบสวนทราบว่านายประสิทธิ์หรือชาญชัย หรือเหว่ยเซี๊ยะกังหรือไท่เซิง เป็นนายทุนผู้ผลิตส่งไปขายต่างประเทศ ต่อมาปี 2531 จึงจับกุมนายประสิทธิ์ได้ ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องนายประสิทธิ์เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายประสิทธิ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยนายประสิทธิ์ชั่วคราว ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายประสิทธิ์ไม่มาศาล ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่านายประสิทธิ์มีความผิดตามฟ้องให้ประหารชีวิต นายประสิทธิ์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 336, 399, 275 ห้างหุ้นส่วนสามัญ พลอยแดง และบริษัทออเร้นจ์ คัลเลอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กับยึดและอายัดทรัพย์สินในสำนวนแรกและในสำนวนที่สองเป็นของกลาง คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านทั้งสามสิบสองแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานจึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 2 และเป็นน้องของผู้คัดค้านที่ 11 ผู้คัดค้านที่ 9 เป็นมารดาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 11 และที่ 13 ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นน้องสะใภ้ของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้คัดค้านที่ 8 เป็นน้องของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 12 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 11 ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นลูกผู้พี่ผู้น้องของผู้คัดค้านที่ 11 ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 14 เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้คัดค้านที่ 11 บริษัทและห้างหุ้นส่วนผู้คัดค้านที่ 16 ถึงที่ 20 และที่ 22 ถึงที่ 25 เป็นนิติบุคคลที่มีผู้คัดค้านข้างต้นเกี่ยวพันเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการ และพนักงาน มีการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันหรือเปิดบัญชีเงินฝากไว้เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของนิติบุคคล มีการเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์แทนกัน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินในสำนวนแรกและในสำนวนที่สองพร้อมดอกผลตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนทรัพย์สิน อาวุธปืน เงินฝากธนาคาร เครื่องประดับและอัญมณี กล้องถ่ายรูป ในสำนวนแรก และทรัพย์สินในสำนวนที่สองแก่เจ้าของ ให้ผู้คัดค้านที่ 31 มีสิทธิหักชำระหนี้บัตรเครดิตจำนวน 55,413.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 045 1 05xxx x ในสำนวนแรก ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์ที่คืนดังกล่าวและสิทธิหักชำระหนี้บัตรเครดิตของผู้คัดค้านที่ 31 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และผู้คัดค้านที่ 15 ที่ 18 และที่ 20 ถึงที่ 31 ไม่อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นกัน
ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 ที่ 14 และที่ 32 ข้อ 4.7 เห็นว่า เนื้อหาฎีกาของผู้คัดค้านในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 ที่ 14 และที่ 32 ข้อ 4.7 มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 12 ข้อ 4.4 ที่ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 11 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภฐ 789 กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรอันเป็นการอุปการะไม่เกินแก่ฐานานุรูปและเป็นเรื่องของศีลธรรมอันดีที่แม่มีต่อบุตร นั้น ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 12 ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นคำร้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 ที่ 14 ที่ 32 ข้อ 4.7 ที่ 4 และที่ 12 ข้อ 4.4 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องบรรยายให้เห็นแล้วว่า นายประสิทธิ์หรือชาญชัยหรือเต็ง หรือเว่ยเซี๊ยะกัง หรือเหว่ยเซี๊ยะกัง กระทำความผิดเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายยาเสพติดและนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปประกอบธุรกิจบังหน้า โดยให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ดำเนินการ อันมีลักษณะเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และรายการการสืบสวนพฤติการณ์ของนายประสิทธิ์รวมทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2544 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำหมายค้นของศาลอาญาเข้าตรวจค้นบ้านและสถานที่ประกอบธุรกิจหลายแห่งและได้ยึดทรัพย์สินจำนวนมาก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตรวจพบและยึดมาเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า นายประสิทธิ์ได้ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2523 เรื่อยมา จนกระทั่งถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2531 แต่นายประสิทธิ์หลบหนีไปในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ นายประสิทธิ์ยังคงร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และนายประสิทธิ์ได้ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 11 ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จัดตั้งบริษัทขึ้นประกอบธุรกิจบังหน้าเพื่อทำการฟอกเงิน และผู้คัดค้านที่ 11 ได้ร่วมกับเครือญาติและบุคคลใกล้ชิดจัดตั้งบริษัทและห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นประกอบธุรกิจบังหน้าเพื่อทำการฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่า กรณีที่ปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหา โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า กรณีปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายประสิทธิ์ ซึ่งบุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ในส่วนว่าเงินหรือทรัพย์สินใดตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องที่ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกได้รับโอนมาจากนายประสิทธิ์ หรือได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นส่วนตนของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกโดยเฉพาะจึงย่อมมีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งเป็นรายละเอียดที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกสามารถนำสืบพิสูจน์กันในชั้นไต่สวนได้ คำร้องของผู้ร้องจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้หรือไม่ เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยคดีสองคดีซึ่งเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเช่นเดียวกันกับคดีนี้ และการวินิจฉัยบทบัญญัติหมวด 6 ต้องเข้าความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ก่อน จึงเป็นการวินิจฉัยอยู่ในตัวว่าบัญญัติลักษณะของความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ใช้บังคับย้อนหลังได้ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546 เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว และได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษนั้น เป็นหนึ่งในสาระสำคัญของหลักนิติธรรม การที่ผู้ร้องใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ย้อนหลังให้เป็นโทษแก่ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกนั้น แม้จะเคยได้รับการรับรองโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงทำให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 32 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ อันเป็นบทบัญญัติตามหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ ตามหลักนิติธรรมซึ่งได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันเหมือนกัน หาได้ลบล้างหลักนิติธรรมเดิมไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ว่า เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินคดีนี้โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ยื่นคำคัดค้านในประเด็นนี้ว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่มีอำนาจที่จะตรวจยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้คัดค้าน และไม่มีอำนาจเสนอเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ได้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเคยหารือข้อกฎหมายต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เมื่อทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นว่าความผิดฐานฟอกเงินเป็นความผิดอาญาซึ่งไม่มีผลย้อนหลัง จึงได้รีบให้ผู้แทนมาชี้แจงยืนยันว่าไม่ประสงค์จะหารือในประเด็นดังกล่าวอีก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องผูกพันหรือต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 กลับฎีกาว่า เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกคำสั่ง 7 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 โดยอ้างว่าเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนตามมาตรา 48 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกโดยที่ไม่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนจริง เพราะความผิดประธานที่นำมากล่าวอ้างเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2530 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกไม่ได้มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่ประการใด เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ให้มีผลย้อนหลัง การตรวจค้นตามหมายค้นไม่ชอบซึ่งเป็นคนละประเด็น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นคำร้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ว่า คำร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากเห็นสมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการต่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับเอากับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมุ่งต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทำให้การปราบปรามการฟอกเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่เป็นเรื่องโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 แต่เป็นการใช้อำนาจรัฐในการติดตามยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานซึ่งถือเป็นทรัพย์ที่มีตราบาปจากผู้ที่ครอบครองเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะ กรณีมิใช่เป็นการบังคับใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง และไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ผู้ร้องย่อมมีอำนาจขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีขอบเขตเรื่องระยะเวลาในการติดตามยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 19 ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ 11 ข้อ 4.8 ที่ 16 ข้อ 4.5 ที่ 19 ข้อ 4.6 ในประเด็นนี้ เนื้อหาฎีกาของผู้คัดค้านดังกล่าวในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 11 ข้อ 4.8 ที่ 16 ข้อ 4.5 ที่ 19 ข้อ 4.6 ในประเด็นนี้มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นคำร้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 32 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 ที่ 14 และที่ 32 ข้อ 4.7 ที่ 4 และที่ 12 ข้อ 4.4 ที่ 11 ข้อ 4.8 ที่ 16 ข้อ 4.5 ที่ 19 ข้อ 4.6 และเมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 และที่ 14 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา กรณีจึงไม่มีค่าขึ้นศาลที่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share