แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินทรัพย์มรดกระหว่าง ต. ผู้จัดการมรดกกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้อ้างเหตุเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ด้วยประสงค์ให้ที่ดินกลับสู่กองมรดก และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินระหว่าง ต. กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะขาดอายุความ แต่ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก การที่ ต. โอนที่ดินให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า การโอนที่ดินมรดกของนายถวิลให้จำเลยเป็นโมฆะและให้ที่ดินกลับมาสู่กองมรดกของนายถวิลเพื่อแบ่งแก่ทายาท ยกเว้นจำเลยให้ตัดออกจากการเป็นทายาท หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนความยินยอมของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ประเภทโอนมรดก ระหว่างนางสาวเตือนใจ (ผู้จัดการมรดกของนายถวิล) ผู้ให้สัญญากับนางรัศมี และนางสาวเตือนใจ ผู้รับสัญญา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ จำเลยและนางสาวเตือนใจ เป็นบุตรนายถวิลกับนางอวน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 10 คน นายถวิลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2297 เนื้อที่ 51 ไร่ 16 ตารางวา ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวเตือนใจเป็นผู้จัดการมรดกของนายถวิล ก่อนตายนายถวิลนำที่ดินพิพาทไปประกันหนี้เงินกู้ไว้กับนายกำพล และที่ดินถูกยึดบังคับชำระหนี้ นางสาวเตือนใจและจำเลยร่วมกันไถ่ถอนที่ดินคืนจากนายกำพล วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 นางสาวเตือนใจจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของนางสาวเตือนใจกับจำเลย ต่อมาในปี 2555 นางสาวเตือนใจฟ้องจำเลยขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว คดีเสร็จสิ้นโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมให้นางสาวเตือนใจได้ที่ดิน 1 ส่วนด้านทิศเหนือ จำเลยได้ที่ดิน 2 ส่วนด้านทิศใต้ แต่ยังไม่สามารถรังวัดแบ่งแยกที่ดินได้ ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2557 โจทก์ นายเรือนชัย และนายบรรยง ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวเตือนใจกับจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานี โดยขอเรียกทรัพย์มรดกคืน ศาลพิพากษายกฟ้องเฉพาะในส่วนของจำเลยเนื่องจากคดีขาดอายุความ
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2558 ของศาลแขวงอุบลราชธานีหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องนางสาวเตือนใจและจำเลยเรียกทรัพย์มรดกคืน อ้างว่าบุคคลทั้งสองมีเจตนาทุจริตร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2297 เป็นของจำเลยและนางสาวเตือนใจโดยไม่แบ่งให้ทายาทอื่น ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวกลับเข้าสู่กองมรดก ศาลแขวงอุบลราชธานี วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบุตรของนายถวิล เจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิจะรับมรดก เมื่อนางสาวเตือนใจซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้ด้วยสิทธิความเป็นทายาท และย่อมจะครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตน กรณีไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดก และโจทก์ฟ้องคดีเกิน 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีในส่วนของจำเลยขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องในส่วนของจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงอุบลราชธานี คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางสาวเตือนใจกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้จะอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพรางก็ด้วยมีความประสงค์อย่างเดียวกัน คือให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของนายถวิล และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่นต่อไป ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางสาวเตือนใจกับจำเลยกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้ แม้คดีก่อนศาลแขวงอุบลราชธานีได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะเหตุขาดอายุความ แต่ศาลแขวงอุบลราชธานีก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดก การที่นางสาวเตือนใจผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าศาลแขวงอุบลราชธานีได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องร้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2558 ของศาลแขวงอุบลราชธานี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี โดยมิได้พิพากษาสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเสียใหม่ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และมาตรา 167 ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ