คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีก่อนที่พนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ 2 ในความผิดอันเกิดจากกรรมเดียวกัน ศาลสั่งให้รอคดีโจทก์ไว้จนกว่าคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จะถึงที่สุด เมื่อศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคู่กรณีในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นไปแล้ว โดยพิพากษายกฟ้องว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความผิด โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นด้วยจะกลับมารื้อร้องฟ้องให้ศาลทำการพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งเกิดจากกรรมอันเดียวกันนั้นอีก โดยให้ศาลพิพากษาเสียใหม่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ เพราะตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติว่า สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไป “(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง” นั้น ย่อมมีความมุ่งหมายว่า คดีอาญาที่มีผู้นำมาฟ้องร้องต่อศาลนั้นให้ทำได้แต่เพียงครั้งเดียวหรือคราวเดียว ห้ามการฟ้องซ้ำให้เป็นที่ยุ่งยากแก่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ทั้งสองหลายนัดโดยเจตนาจะฆ่า กระสุนปืนถูกโจทก์ที่ ๒ เป็นบาดแผลสาหัส ขอให้ลงโทษ ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ ๒ ว่า จำเลยและโจทก์ที่ ๒ พยายามฆ่าซึ่งกันและกัน และจำเลยก็ได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองหาว่าสมคบกันพยายามฆ่าจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา แล้วต่อมาได้สั่งให้แยกคดีทั้งสามสำนวนออกจากกัน โดยให้ดำเนินการสืบพยานคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ ๒ นั้นไปก่อน ส่วนอีก ๒ สำนวนให้รอการพิจารณาคดีไว้ก่อน จนกว่าคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์จะถึงที่สุด
ต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนจำเลยถอนฟ้องคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีนี้ต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี เพราะเห็นว่าคดีระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) เพราะศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แล้ว
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้กับความผิดที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยนั้น เป็นความผิดเกิดจากการกระทำกรรมเดียวกันและในวาระเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อศาลได้ทำการพิจารณาสืบพยานฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ไปแล้วว่าจำเลยไม่มีความผิด โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยด้วยในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ดังกล่าวแล้วจะกลับมารื้อฟื้นยืนยันขอให้ศาลเริ่มต้นพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ในกรรมเดียวกันนั้นให้กลายเป็นว่า จำเลยมีความผิดดังที่โจทก์ฟ้องนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้ระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ ที่บัญญัติว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
“(๔) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง” นั้น ย่อมมีความมุ่งหมายว่า คดีอาญาที่มีผู้นำมาฟ้องร้องต่อศาลนั้น ให้ทำได้แต่เพียงครั้งเดียวหรือคราวเดียว ห้ามการฟ้องซ้ำให้เป็นที่ยุ่งยากแก่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล ด้วยเหตุนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนที่พนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ ๒ ในความผิดอันเกิดจากกรรมเดียวกัน จึงหามีความสำคัญแต่ประการใดไม่ ในเมื่อได้ความว่า กรณีเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคู่กรณีในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นไปแล้ว โดยพิพากษายกฟ้องว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความผิด แล้วโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นด้วยจะกลับมารื้อร้องฟ้องให้ศาลทำการพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งเกิดจากกรรมอันเดียวกันนั้นอีก โดยให้ศาลพิพากษาเสียใหม่ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดกระไรได้
พิพากษายืน.

Share