แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 24/2552 เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ข้อ 5.2.1 กำหนดให้สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) กำหนดให้สินทรัพย์ที่ลูกหนี้ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว สำหรับสินทรัพย์ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมีวงเงินและครบกำหนดสัญญาแล้วไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดสัญญา ให้จัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินกู้ว่า วันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระต้นเงิน 45,465,894.73 บาท ดอกเบี้ย 292,031.04 บาท และในวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ค้างชำระต้นเงิน 45,077,068.42 บาท ดอกเบี้ย 649,385.86 บาท การนับระยะเวลาหนี้ค้างชำระตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย แต่ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ เมื่อนับถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ทั้งเป็นกรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ตามข้อ 5.2.3 (2) วรรคท้าย ยังให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นดังกล่าวด้วย ส่วนทรัพย์ที่จำนองเป็นหลักประกันมีมูลค่าเพียงใด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้นำมาพิจารณาในการจัดชั้นสินทรัพย์ แต่ให้นำมาพิจารณาเพื่อการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเมื่อจัดชั้นสินทรัพย์แล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์หนี้กู้ยืมเงินให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สำหรับสินทรัพย์หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่า ในวันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญา โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระ 1,999,750.54 บาท หลังจากนั้นมีการโอนเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และมีหนี้ค้างชำระในวันสิ้นเดือนดังกล่าว 2,052,861.12 บาท แม้เห็นได้ว่านับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ย้อนหลังขึ้นไปยังมีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินกว่า 6 เดือน ไม่อาจจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ได้ก็ตาม แต่ในการจัดชั้นสินทรัพย์นั้น ข้อ 5.2.2 วรรคแรก ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต้องจัดชั้นสินทรัพย์เป็นรายบัญชี โดยคำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของกระแสเงินสดรับของแต่ละบัญชี ซึ่งหากกระแสเงินสดของลูกหนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อาจต้องจัดชั้นไว้ด้วยกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันเพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจโรงแรมของโจทก์ ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 12 และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 6 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไปลงรายการในบัญชีกระแสรายวันและถือเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กระแสเงินของแต่ละบัญชีจึงมีความเกี่ยวเนื่องกันและชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์ไว้ด้วยกันได้ การที่จำเลยที่ 1 จัดชั้นหนี้กู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจึงเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชอบที่จะรับโอนไว้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 แต่กลับฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 ที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง
โจทก์กล่าวในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทางเลือกอื่นในการบังคับชำระหนี้ โดยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายและไม่ควรเลือกใช้ช่องทางตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีไม่ได้ ตามคำฟ้องย่อมไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ฟ้องคดีได้หรือไม่ แม้โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องและหลักประกันระหว่างจำเลยทั้งสองที่ทำขึ้นก่อนหรือในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 กลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส. 3 ก เลขที่ 1441 และ 1442 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองคืนให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และขอให้ศาลปรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 คิดเกินต่อโจทก์จากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ลงเหลืออัตราเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยที่ 1 ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการโรงแรม จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์รับซื้อหรือ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินรวมตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 47,500,000 บาท ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 วงเงิน 2,000,000 บาท โดยมีนายนพดลหุ้นส่วนผู้จัดการและนางเรณูผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินกับอาคารเป็นประกัน แต่โจทก์ไม่สามารถชำระหนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา วันที่ 22 มกราคม 2553 โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน วันที่ 4 สิงหาคม 2553 โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงินอีกฉบับหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ชำระเฉพาะดอกเบี้ยต่อไปได้อีก 6 เดือน จนถึงเดือนธันวาคม 2553 และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553 โจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 47,000,000 บาทเศษ และจะแบ่งชำระหนี้เป็นงวด ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปี 2554 โจทก์มีหนังสือขอความอนุเคราะห์จากจำเลยที่ 1 อีกโดยจะขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน แต่จำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติ จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงให้คงวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 และโจทก์ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2555 ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้อีก แต่จำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติ โจทก์ยังเป็นหนี้ค้างชำระและเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีค้างชำระ จำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามโจทก์ให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อโจทก์รวมทั้งหลักประกันให้แก่จำเลยที่ 2 โดยให้มีผลตามกฎหมายในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าโอนงวดสุดท้ายแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์เคยมีหนังสือเสนอเงื่อนไขขอประนอมหนี้กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมากลับเพิกเฉย วันที่ 25 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลจังหวัดเกาะสมุยเพื่อบังคับชำระหนี้ หลังจากนั้นโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาประการแรกว่า ที่ดินและอาคารอันเป็นทรัพย์จำนองมีราคาสูงกว่าหนี้และพอชำระหนี้ โจทก์ชำระหนี้กู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่จำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 นับแต่วันชำระหนี้กู้ยืมเงินครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยทั้งสองยังไม่เกินกว่า 6 เดือน ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีก็ไม่ใช่หนี้ที่ไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เกินกว่า 6 เดือน จึงไม่ใช่สินทรัพย์ที่จะถูกจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และไม่เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่จำเลยที่ 2 จะรับโอนจากจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 24/2552 เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ข้อ 5.2.1 กำหนดให้สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) กำหนดให้สินทรัพย์ที่ลูกหนี้ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว สำหรับสินทรัพย์ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมีวงเงินและครบกำหนดสัญญาแล้วไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดสัญญา ให้จัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระต้นเงิน 45,465,894.73 บาท ดอกเบี้ย 292,031.04 บาท และในวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ยังคงค้างชำระต้นเงิน 45,077,068.42 บาท ดอกเบี้ย 649,385.86 บาท การนับระยะเวลาหนี้ค้างชำระตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) มิใช่เริ่มนับ
ตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย แต่ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ เมื่อนับถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน แล้ว ทั้งเป็นกรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ตามข้อ 5.2.3 (2) วรรคท้าย ยังให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นดังกล่าวด้วย ส่วนทรัพย์ที่จำนองเป็นหลักประกันมีมูลค่าเพียงใด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้นำมาพิจารณาในการจัดชั้นสินทรัพย์ แต่ให้นำมาพิจารณาเพื่อการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเมื่อจัดชั้นสินทรัพย์แล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์หนี้กู้ยืมเงินให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สำหรับสินทรัพย์หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น ท้ายคำให้การของจำเลยที่ 2 ปรากฏว่า ในวันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญา โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระ 1,999,750.54 บาท หลังจากนั้นมีการโอนเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย
เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และมีหนี้ค้างชำระในวันสิ้นเดือนดังกล่าว 2,052,861.12 บาท แม้เห็นได้ว่านับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ย้อนหลังขึ้นไปยังมีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินกว่า 6 เดือน ไม่อาจจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ได้ก็ตาม แต่ในการจัดชั้นสินทรัพย์นั้น ข้อ 5.2.2 วรรคแรก ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต้องจัดชั้นสินทรัพย์เป็นรายบัญชี โดยคำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของกระแสเงินสดรับของแต่ละบัญชี ซึ่งหากกระแสเงินสดของลูกหนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อาจต้องจัดชั้นไว้ด้วยกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันเพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจโรงแรมของโจทก์ ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 12 และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 6 โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไปลงรายการในบัญชีกระแสรายวันและถือเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กระแสเงินของแต่ละบัญชีจึงมีความเกี่ยวเนื่องกันและชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์ไว้ด้วยกันได้ การที่จำเลยที่ 1 จัดชั้นหนี้กู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย จึงเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชอบที่จะรับโอนไว้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 บีบบังคับกดดันให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 ที่ให้โจทก์ชำระหนี้ภายใน 2 เดือน หากโจทก์ไม่ยอมลงชื่อ จำเลยที่ 1 ก็จะไม่อนุมัติให้โจทก์เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันต่อไป ทำให้โจทก์รับภาระเพิ่มขึ้น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 (5) นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ แต่กลับฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 ที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า หากโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ต้องฟ้องคดี จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์กล่าวในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทางเลือกอื่นในการบังคับชำระหนี้ โดยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย และไม่ควรเลือกใช้ช่องทางตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีไม่ได้ ตามคำฟ้องย่อมไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ฟ้องคดีได้หรือไม่ แม้โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ก็ต้องถือว่าไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาโดยให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ