คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าจ้างก่อสร้างแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามาอันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการผิดหลง ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 แล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องได้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการชำระหนี้ค่าก่อสร้างให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 2 จะเป็นคู่ความในคดีด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ว่าจ้างให้โจทก์ทำการก่อสร้างและติดตั้งถังโมลาสที่โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ตกลงชำระค่าจ้างรวม 9 งวด เป็นเงิน 3,040,000 บาท ระหว่างสัญญาจำเลยทั้งสี่บอกให้โจทก์หยุดงานและให้ส่งผลงานเท่าที่ทำเสร็จ ผลงานที่โจทก์ทำเสร็จคิดเป็นเงิน 2,486,943 บาท แต่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์เพียง 1,840,000 บาท ยังคงค้างชำระ 646,943 บาท จำเลยทั้งสี่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2547 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,726 บาท รวมหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 656,369 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 656,369 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 646,943 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียจากสารบบความ
นายวิษณุ ธงทอง ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวนจึงขอร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายวิษณุ ธงทอง เข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยร่วมยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำให้การของจำเลยร่วม ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยร่วมต้องใช้สิทธิเท่าที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยร่วมย่อมยื่นคำให้การและนำสืบตามข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่จำเลยร่วมยื่นคำให้การและศาลมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมเป็นคำสั่งโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วม และมีคำสั่งใหม่ว่าไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
จำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมเพียงว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า กรณีของจำเลยร่วมเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามาอันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลง ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ข้อที่จำเลยร่วมฎีกาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ถอนฟ้องจำเลยร่วมซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อเห็นว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ เพื่อไม่ให้จำเลยร่วมมีโอกาสยื่นคำให้การต่อสู้คดีนั้น เห็นว่า การที่จำเลยร่วมจะเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยหรือไม่ ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป จำเลยร่วมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมาย การถอนฟ้องของโจทก์จึงไม่กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ในการต่อสู้คดีรวมทั้งไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลฎีกาให้เป็นพับ.

Share